“จ่าโอ๋” เปลี่ยนใจไม่ลาออก ตร. ตั้ง “เดชา” เป็นทนายสู้คดีหักเงินซื้อแอร์ กำลังใจดีมีคนหนุน (คลิป)

31 มี.ค. 61
กรณีจ่าสิบตำรวจเลอศักดิ์ นนท์ขุนทด หรือ จ่าโอ๋ ผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.พหลโยธิน ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. เพื่อให้ตรวจสอบผู้บังคับบัญชา เนื่องจากเจ้าตัวรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังถูกหักเงินเบี้ยเลี้ยงนำไปซื้อเครื่องปรับอากาศ ติดตั้งภายในห้องสอบสวนของ สน.พหลโยธิน โดยเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) จ่าโอ๋ เปิดเผยในรายการต่างคนต่างคิดว่า ตนเองจะเดินหน้าฟ้องร้องต่อ และยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะลาออกจากราชการหรือไม่
สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน
ล่าสุดวันนี้ (30 มี.ค.) ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้โทรศัพท์ติดต่อไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน สน.พหลโยธิน ที่มีรายชื่อถูกหักเบี้ยเลี้ยงนำไปซื้อเครื่องปรับอากาศ ทั้ง 10 นาย โดยผู้รับสายเพียง 4 นายเท่านั้น เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ทราบหรือไม่ว่าทาง จ่าโอ๋จะถูกผู้บังคับบัญชาสอบเรื่องการร้องเรียนว่าถูกต้องหรือไม่ ทั้ง 4 นายต่างตอบเสียงเดียวกันว่าไม่ทราบ เมื่อถามว่าเป็นการทิ้งเพื่อนหรือไม่ ที่ปล่อยให้จ่าโอ๋เดินหน้าร้องเรียนเพียงลำพัง ซึ่งทั้ง 4 นาย ตอบเพียงสั้นๆ เหมือนกันว่า “ไม่” จากนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อว่า "ไม่" หมายถึงไม่ทิ้งใช่หรือไม่ ปรากฎว่ามีเพียง 1 นายที่ระบุว่า ไม่ได้ทิ้ง ส่วนอีก 3 นาย ไม่ขอตอบ พร้อมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้ให้ข้อมูลกับทางผู้บังคับบัญชาไปแล้ว ส่วนผลสอบสวน หรือการดำเนินการจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา
จ.ส.ต.เลอศักดิ์ นนท์ขุนทด หรือ "จ่าโอ๋" ผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.พหลโยธิน ผู้ร้องเรียน
ด้าน จ่าสิบตำรวจ เลอศักดิ์ นนท์ขุนทด หรือ จ่าโอ๋ เปิดเผยว่า ตอนนี้ตนได้ให้นายเดชามาเป็นทนายความส่วนตัว และหากมีการตั้งคณะกรรมการ ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ ตนไม่มีความกังวลว่าจะถูกกลั่นแกล้งใดๆ แต่ตนเองยังมีคำถามคาใจว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า สิ่งที่ตนเสนอออกมาผิดจริงหรือไม่ หรือว่าสามมารถที่จะทำได้ แม้ว่าตอนนี้จะเหลือตัวคนเดียว ตนเองก็สู้คนเดียวมาตั้งแต่แรก กำลังใจจากเพื่อนอีก 10 คน ก็ยังให้ตนเหมือนเดิม ส่วนที่เพื่อนไม่ออกมาพูด ตนไม่ทราบว่ามีการถูกล็อบบี้ไว้หรือไม่ สำหรับกรณีที่ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ยื่นมือมาช่วยด้านคดีนั้น ยอมรับว่ามีการโทรศัพท์มาหาตนเพื่อพูดคุยกัน แต่ตนยังไม่ได้ตกลงตัดสินใจในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่ หลายๆฝ่าย ติดต่อมาให้กำลังใจ และพร้อมที่จะช่วยเหลือตน หากสู้ไม่ไหว ท่านก็พร้อมที่จะช่วย โดยทางตนยังไม่พร้อมระบุว่ามีใครบ้าง สำหรับความรู้สึกตอนนี้ ยังไม่ตัดสินใจที่จะลาออกแบบเดิมแล้ว เพราะตนเองได้รับกำลังใจจากหลายฝ่ายที่ให้การช่วยเหลือและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
นายเดชา กิตติวิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
ขณะที่ นายเดชา กิตติวิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า ตนได้รับการติดต่อจาก จ่าสิบตำรวจเลอศักดิ์ หรือ จ่าโอ๋ ให้มาช่วยดูแลด้านคดี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งจากการดูหลักฐานเบื้องต้นแล้ว ตนเองคิดว่ามีมูลพอที่จะฟ้องเป็นคดีอาญาทุจริตได้ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตนก็จะดำเนินการร่างฟ้องคดีให้กับจ่าโอ๋ต่อไป ทนายเดชา กล่าวต่อว่า ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการหารเงินเพื่อซื้อแอร์ แต่เป็นเรื่องการใช้ตำแหน่งในฐานะผู้บังคับบัญชา เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเงินมาให้ทั้งที่ไม่เต็มใจ ส่วนที่จะร่วมกันซื้อแอร์นั้นไม่เกี่ยวกับจ่าโอ๋ และถึงแม้ว่าตอนนี้เพื่อนตำรวจอีก 10 คน จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีแล้ว แต่จ่าโอ๋ก็ยังสู้ต่อ และต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด ตนเองจึงแนะนำให้ร้องเรียนไปยังศาลอาญาทุจริต เพราะเพียง 2-3 เดือน ก็จะรู้ผลตัดสินจากศาล โดยไม่ต้องไปผ่านกระบวนการใดๆ ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ตนเองก็จะยื่นฟ้องต่อศาลตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีถึงชั้นศาลแล้ว ศาลก็จะเรียกให้ตำรวจท่านอื่นๆ มาสอบถามเป็นพยาน ว่าทำไมจึงต้องนำเงินของตำรวจชั้นประทวนไปซื้อแอร์ ซึ่งถึงแม้ท่านอื่นๆจะเต็มใจจ่าย ก็ไม่เกี่ยวกับคดีของจ่าโอ๋ เพราะจ่าโอ๋ไม่ได้เต็มใจ
นายเดชา กิตติวิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย พูดคุยกับผู้สื่อข่าว
สำหรับกรณีที่มีการตั้งกรรมการมาสอบสวนจ่าโอ๋นั้น ทนายเดชา ระบุว่า ไม่เป็นไร เพราะจ่าโอ๋ทำความดี ความดีก็จะคุ้มครอง แต่หากจะตั้งกรรมการมาเพื่อสอบสวนผู้ที่ชี้เป้าว่ามีการปฏิบัติหน้าที่อย่างหมิ่นเหม่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ก็ถือเป็นเรื่องของเขา ส่วนจ่าโอ๋ไม่กังวล เพราะถือว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง และยังไม่คิดที่จะลาออก แต่จะยังอยู่เพื่อต่อสู้ต่อไป ทั้งนี้ ตนเองอยากให้คดีนี้ทำเป็นคดีตัวอย่าง แม้จะมีการหารเงินกันซื้อแอร์ แล้วเป็นเงินไม่เยอะ อาจจะไม่เดือดร้อนกับสารวัตรหรือผู้กำกับ แต่มีผลต่อตำรวจชั้นประทวน และกระทบกับขวัญกำลังใจและการดำรงชีพของพวกเขา สำหรับกรณีที่ จ่าโอ๋ ไม่ร้องต่อผู้บังคับบัญชา แต่ไปร้อง ปปท. ซึ่งเป็นเรื่องของวินัย ก็ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการไป แต่เท่าที่ทราบ จ่าโอ๋ร้องเรียนไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล และ ปปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ที่เกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งโดยตรงอยู่แล้ว จ่าโอ๋ก็ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนได้ เพราะแม้เขาจะเป็นตำรวจ แต่เขาก็มีฐานะเป็นประชาชนด้วย ซึ่งเป็นสิทธิ์พึงกระทำในการไปร้องเรียน แต่หากจะมีความผิดทางวินัยหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ