ฝูงหมาจรนับร้อย! ชาวบ้านสุดทน แฉภาพรุมขย้ำผ้าคลุมรถ จี้แบบนี้ควร Set Zero (คลิป)

20 มี.ค. 61
กรณีที่เมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี set zero สุนัขและแมวจรจัดว่า ควรหันมาดูแลเรื่องเก็บภาษีผู้เลี้ยงสุนัขกับแมวมากกว่า ซึ่งหากผู้เลี้ยงนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยก็ควรที่จะได้รับโทษ รวมถึงวางระบบให้คนเลี้ยงสัตว์ดูแลสัตว์อย่างดี ไม่ให้นำไปปล่อยกลายเป็นสัตว์จรจัด วันนี้ (19 มี.ค.) ทีมข่าวเดินทางมาพูดคุยกับ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เปิดเผยว่า กรณีในเรื่องของการ set zero นั้น ตนเองได้พูดคุยกับคนที่ออกมาเรียกร้องแล้วว่า ไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดการ set zero จริงๆ เพียงแต่เป็นการระบุคำพูดที่ให้ฟังแล้วเข้าใจง่าย จนเกิดเป็นไวรัล โดยที่ไม่มีใครทราบรายละเอียดว่าความจริงเป็นอย่างไร
นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย
ทั้งนี้ กลุ่มคนที่อยากให้เกิดการ set zero สัตว์จรจัดทราบว่าในประเทศไทยนั้นไม่สามารถทำได้จริง เพราะปัจจัยทางสังคม ทั้งเรื่องศีลธรรม และในทางฏิบัติที่จะฆ่าสุนัข 8 แสนตัว นั้นเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งการจับสุนัขแต่ละตัว จับค่อนข้างยาก คงไม่มีทางเห็นภาพเจ้าหน้าที่นำปืนยาสลบไปยิงสุนัข หรือนำไม้กระบองฟาดเหมือนกับประเทศอื่น ส่วนที่บอกว่าต่างประเทศสามารถที่จะ set zero ได้นั้น เป็นเพราะต่างประเทศมีการประกาศ และป้องกันไม่ให้คนนำสุนัขไปทิ้ง โดยการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้คนกล้าทิ้ง จากนั้นให้นักสังคมสงเคราะห์ หรือคนรักสัตว์นำสัตว์ไปดูแลภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ใช่ว่าวันพรุ่งนี้หรือเดือนหน้านี้จะมีการฆ่าสัตว์ทั้งหมด นายโรเจอร์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงนั้น น่าจะเป็นไปได้มากกว่าการ set zero แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ทั้งนี้ เคยมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาหลายรอบ แต่ก่อนที่จะเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงได้ ต้องทราบก่อนว่า จะเก็บจากใคร จะทำอย่างไรกับคนที่ปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยง และต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง รวมถึงแยกประเภทสัตว์ด้วย ทั้งสัตว์เลี้ยงในบ้าน สถานสงเคราะห์ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงเพื่อการค้า จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงได้ หลังจากนั้นต้องไปแก้กฎหมาย เพราะตอนนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น กฎหมายสาธารณสุข โรคระบาดสัตว์ โรคพิษสุนัขบ้า หรือกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ยังไม่ได้อนุญาตให้หน่วยงานใดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง ในส่วนนี้จึงต้องนำเรื่องเข้ารัฐสภาก่อน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งตอนนี้ กฎหมายที่จะออกมาต้องมีทั้งกฎหมายแม่ และกฎหมายลูก ที่จะบอกหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ
นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอมรินทร์
นายโรเจอร์ กล่าวต่อว่า เรื่องการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงนั้นทำได้ แต่ขอให้ทำจริงๆ อย่าพูดเพียงเพราะตามกระแส ทุกครั้งที่มีกระแส ก็จะออกมาพูดแล้วก็เงียบ ถ้าหากจะทำก็เรียกประชุม พร้อมร่างกฎหมาย และให้ภาคประชาชนได้รับทราบด้วย ขณะที่ต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา มีการกำหนดการเลี้ยงสัตว์ขั้นต่ำ 2 ตัว หรือประเทศสิงคโปร์ ก็มีกฎหมายห้ามเลี้ยงแมวเด็ดขาด เป็นต้น ส่วนเรื่องวิธีการขึ้นทะเบียน มีทั้งการห้อยเหรียญที่คอ หรือฝังชิพ คาดว่าจะต้องมีคนออกมาบอกว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะสุนัขในชุมชนหรือในสถานสงเคราะห์จะฝังชิพไปทำไม ซึ่งรายละเอียดตรงนี้อย่าเพิ่งไปด่วนสรุป ตอนนี้ ตนเองไม่อยากให้คนมาตื่นตูมว่า การเก็บภาษีนั้นจะมีผลเสีย ตนเห็นด้วยว่าเป็นผลดี ถ้ามีการเก็บภาษีอย่างเหมาะสม เพื่อเอื้อให้เกิดกับคนที่มีความรับผิดชอบ และลดอัตราการนำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยทิ้ง ซึ่งหากระเบียบการออกมาชัดเจน ตนเชื่อว่าคนไทยก็จะเห็นด้วย นายโรเจอร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากวันพรุ่งนี้ มีการเรียกประชุมเรื่องนี้ อย่างมากอาจจะออกกฎหมายได้ภายในปลายปีนี้ แต่หากเป็นอย่างช้าก็คงนานชั่วกัปชั่วกัลป์ ต่อมา ทีมข่าวเดินทางมาพูดคุยกับ สัตวแพทย์หญิงภัทรนันท์ สัจจารมย์ สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย WATCHDOG THAILAND เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงได้ แม้ว่าแนวคิดการจัดเก็บภาษีจะเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีการจัดระบบระเบียบภายในก่อน คือการจัดระเบียบขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง โดยการนำสุนัขไปฝังไมโครชิพ เพื่อให้ตรวจหาเจ้าของได้ และช่วยจะลดปริมาณคนทิ้งสัตว์ด้วย
สพ.ญ.ภัทรนันท์ สัจจารมย์ สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย WATCHDOG THAILAND
สัตวแพทย์หญิงภัทรนันท์ กล่าวต่อว่า คนเลี้ยงสัตว์ในบ้านเรายังขาดระเบียบวินัยค่อนข้างเยอะ หากรัฐบาลจะไปเพิ่มความรับผิดชอบให้กับเขา ต้องยอมรับผลที่ตามมา เช่น การให้คนเลี้ยงสัตว์เสียภาษี คนอาจจะทิ้งสัตว์เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นจากแนวคิดที่ดีจะกลายเป็นส่งผลเสียตามมา โดยในอนาคตควรให้มีการเพิ่มโทษคนที่ละทิ้งสัตว์ด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะต้องให้รายละเอียดได้ว่าเงินภาษีที่เสียไป จะเอาไปใช้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียภาษีแต่ละกลุ่ม ควรเสียภาษีไม่เท่ากัน เช่น กลุ่มของคนซื้อสัตว์มาเลี้ยง กลุ่มที่เก็บสัตว์จรจัดมาเลี้ยง ซึ่งอาจได้รับการละเว้นภาษี เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องการจัดการนโยบายที่ภาครัฐต้องให้คำชี้แจง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเอื้อผลประโยชน์ที่จะกลับคืนสู่ประชาชนที่เสียภาษี อย่างการฉีดวัคซีนสัตว์ฟรี การทำหมันสัตว์ฟรี หรือแม้แต่ช่วยกลุ่มคนที่เลี้ยงสัตว์จรจัด อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปสู่เรื่องภาษี ต้องทำการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเพื่อทราบจำนวนประชากรของสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของก่อนว่ามีทั้งหมดกี่ตัว เพราะสัตว์จรจัด 700,000 ตัว บางตัวมีคนให้ข้าวสุนัขข้างถนน แล้วอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แต่พอเกิดปัญหาก็ไม่ได้รับผิดชอบ ซึ่งนอกจากสัตว์เลี้ยงจำพวกสุนัขและแมวแล้ว ยังต้องมีการขยายไปสู่สัตว์เลี้ยงชนิดอื่นด้วยเช่นกัน
สพ.ญ.ภัทรนันท์ สัจจารมย์ สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย WATCHDOG THAILAND ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอมรินทร์
ผู้สื่อข่าวสอบถาม กรณีหากมีการขึ้นภาษี คนก็จะซื้อสัตว์ไปเลี้ยงน้อยลงหรือไม่ สัตวแพทย์หญิงภัทรนันท์ มองว่า การซื้อสัตว์ไปเลี้ยงยากขึ้นถือว่าเป็นผลดี เพราะว่า คนที่จะซื้อสัตว์ไปเลี้ยงก็ต้องมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว การที่จะละทิ้งสัตว์ก็จะทำได้ยากขึ้นด้วย สัตวแพทย์หญิงภัทรนันท์ อธิบายว่า ในต่างประเทศก่อนจะนำสัตว์ไปเลี้ยง ก็จะมีการสอบถามข้อมูลของครอบครัวผู้เลี้ยงก่อนว่า มีความเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์ใด นอกจากนี้ หากมีการนำสัตว์ไปทิ้งก็จะมีโทษปรับ อาจสูงถึง 500 ยูโร (หรือประมาณ 19,000 บาท) ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือการขึ้นทะเบียนสัตว์ โดยฝังไมโครชิพ แล้วจึงปรับโทษทางกฎหมาย ตนขอฝากบอกถึงคนเลี้ยงสุนัขว่า สัตว์ทุกชีวิตมีจิตใจ แล้วโลกของเขามีเจ้าของเพียงคนเดียว หากวันนี้คุณเลี้ยงเขารักเขา แต่วันข้างหน้าคุณทิ้ง โลกของเขาก็จะหายไป แล้วไปเร่ร่อน ถ้าคิดว่าเป็นตัวเราที่ต้องไปเผชิญแบบนั้น เราเองจะรู้สึกอย่างไร
สุนัขจรจัดในหมู่บ้าน
  ด้าน นางวรรณ น้ำมนต์ดี หรือ ป้าวรรณ ชาวบ้านในหมู่บ้าน เปิดเผยว่า ภายในซอยมีสุนัขจรจัดเยอะ เพราะว่าบ้านที่มาเช่าบ้านอยู่แล้วพอออกไปก็ทิ้งสุนัขไว้ ตนสงสารจึงปั่นจักรยานสามล้อนำอาหารไปให้สุนัขเหล่านี้เป็นประจำ
นางวรรณ น้ำมนต์ดี หรือ ป้าวรรณ ชาวบ้านในหมู่บ้าน
ป้าวรรณ เล่าต่อว่า เมื่อก่อนนี้ตนเองไม่ใช่คนรักสุนัข แต่เมื่อมาทำงานขนส่งสินค้าทางเรือ มีโจรขึ้นเรือ และขโมยสินค้าไป ตนจึงเลี้ยงสุนัขจรจัดไว้เพื่อเห่าไล่คนแปลกหน้า ตั้งแต่นั้นตนจึงผูกพันกับสุนัขมาตลอด พอเห็นสุนัขจรจัดตัวผอมๆ ตนก็เอาจะข้าวไปให้กิน สำหรับสุนัขในหมู่บ้าน ยอมรับว่ามีเกือบ 100 ตัว ตนเองก็ดำเนินการฉีดวัคซีนและทำหมันไปแล้วกว่า 10 ตัว ส่วนตัวอื่นยังตามจับไม่ได้ เพราะสุนัขเหล่านี้ ต้องใช้วิธียิงลูกดอกยาสลบเท่านั้น แต่ลูกดอกยาสลบมีราคาค่อนข้างแพง (ประมาณตัวละ 4,500 บาท) ตนเคยให้คนมาฉีดลูกดอกยาสลบให้สุนัขตัวหนึ่ง แต่สุดท้ายสุนัขตาย จึงไม่อยากให้ใครมายิงลูกดอกสุนัขอีก ภายหลังมีคนใจดีช่วยทำหมันสุนัขให้ โดยช่วยกันออกค่าใช้จ่ายตัวละประมาณ 300 บาท ตนจึงปรึกษากับประธานหมู่บ้าน แต่ประธานบอกว่าไม่มีงบที่จะดำเนินการให้ ตนจึงเสนอไปที่เทศบาล แต่ทางเทศบาลและปศุสัตว์ก็ไม่ได้มาช่วยเหลือ ตนกับชาวบ้านอีกคนจึงระดมเงินทุนกันเอง ป้าวรรณ กล่าวถึงเรื่องการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงว่า หากมีการเก็บภาษี ตนไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย เพราะตนก็ไม่ได้ทำงานแล้ว ทุกวันนี้ได้เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท และลูกให้เงินเดือนละ 4,000-5,000 บาทเท่านั้น เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า หากนำสุนัขไปเข้าระบบ set zero จะทำอย่างไร ป้าวรรณ ถึงกับน้ำตาคลอ บอกเพียงว่า "สงสารเขานะ ถ้าจะเอาเขาไปฆ่า ชีวิตเขาชีวิตเรานะ ตนทำใจไม่ได้ถ้าจะเอาสุนัขจรจัดไปฆ่า" อย่างไรก็ตาม ป้าวรรณ ยังบอกด้วยว่า ถ้าไม่รักสุนัข ก็อย่าเอามาเลี้ยงเลย ถ้าเลี้ยงก็เลี้ยงให้ตลอดรอดฝั่ง อย่ามาทิ้งไว้ให้เป็นภาระของคนอื่น เพราะตนเองอดสงสารไม่ได้ รวมถึงตอนนี้ อยากให้ทางเจ้าหน้าที่เข้ามาจับสุนัขในหมู่บ้านไปดูแลแทนด้วย
นางวราภรณ์ ตั้งใจประสาทพร ชาวบ้านในหมู่บ้าน
หลังจากนั้น ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นางวราภรณ์ ตั้งใจประสาทพร ชาวบ้านอีกคน ที่เปิดเผยถึงปัญหาสุนัขจรจัดในหมู่บ้านว่า ทั่วหมู่บ้านมีสุนัขหลายร้อยตัว เนื่องจากหมู่บ้านนี้ค่อนข้างใหญ่ และมีโครงการถึง 3 โครงการ นางวราภรณ์ ยอมรับว่า ทุกวันนี้ไม่กล้าออกไปไหน เนื่องจากกลัวสุนัขจรจัดจะกัด เพราะก่อนหน้านี้มีสุนัขบางตัวกัดคน ตนคิดว่าสาเหตุที่สุนัขเยอะ เป็นเพราะตั้งแต่ช่วงที่เริ่มต้นก่อสร้างหมู่บ้าน มีคนงานรับเหมาก่อสร้างนำสุนัขมาเลี้ยง พอโครงการก่อสร้างเสร็จก็ทิ้งสุนัขไว้ บางคนเช่าบ้านที่นี่ ตอนที่สุนัขวัยกำลังน่ารักก็เลี้ยงดู แต่พอมันโตก็ปล่อยมันทิ้งไว้ แล้วไม่อยากจะเลี้ยงต่อ จนสุนัขแพร่พันธุ์เยอะขึ้น
สุนัขจรจัดรุมขย้ำผ้าคลุมรถ
นางวราภรณ์ เล่าต่อว่า สุนัขจรจัดเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะตอนกลางคืนมันจะออกมารื้อขยะ จนเศษขยะกระจุยกระจายเต็มซอยถนน ทำให้ตนต้องลากขยะไปเก็บไว้ในบ้าน และเมื่อสุนัขรื้อขยะออกมาก็สร้างภาระให้กับในซอยต้องออกมาเก็บกวาด อีกทั้งสุนัขชอบวิ่งไล่ตามรถ โดยเฉพาะจักรยานของเด็กๆ ในหมู่บ้าน ทำให้ตนกังวลว่าจะเกิดอุบัติเหตุ บางครั้งรถที่จอดคลุมผ้าไว้ก็ถูกสุนัขจรจัดรุมกันขย้ำผ้าคลุมรถด้วย อีกทั้งในซอยจะมีคนใจบุญให้อาหารสุนัขจรจัดอยู่เสมอ บางครั้งเอาข้าวใส่เต็มรถเข็นมาให้ แล้วนำถุงพลาสติกมารองเศษข้าว พอสุนัขกินไม่หมด ก็จะมีเหล่านกพิราบมากินเศษอาหารต่อ ทำให้นกพิราบเข้ามาเยอะมากขึ้น
อาหารที่ผู้ใจบุญนำมาวางไว้ให้สุนัขจรจัด
ตอนนี้สิ่งที่พวกตนต้องการ คือให้มีเจ้าหน้าที่มาจับสุนัขจรจัดเหล่านี้ไปให้หมด ตนอยากจะให้เหลือเพียงสุขที่มีเจ้าของ ซึ่งตนก็เคยแจ้งไปทางประธานหมู่บ้านแล้ว ท่านก็รับฟังแต่ไม่ได้แก้ไข ตนจึงโทรศัพท์แจ้งไปทาง อบต. ก็เพียงแต่รับฟังเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นเรื่องการ set zero นางวราภรณ์ มองว่า เป็นเรื่องที่ดีในการทำให้สุนัขจรจัดหายไปเลย แต่อย่างไรก็ตาม ต้นตอของปัญหาคือคนเลี้ยง ควรที่จะเลี้ยงสุนัขไปจนกว่ามันจะแก่เถ้าตายไป หรือฉีดยาทำหมันสุนัข ไม่ให้มันแพร่พันธุ์ ถ้าไม่สามารถเลี้ยงได้ ก็ไม่ควรจะเอามาเลี้ยงตั้งแต่แรก ท้ายที่สุดตนก็ไม่ทราบว่า ปัญหาสุนัขจรจัดจะแก้ไขได้หรือไม่

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ