จากกรณีหวย 30 ล้านบาท ที่กำลังเป็นปมถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ ล่าสุด
นายฐนุกร เหลืองใหม่เอี่ยม หรือ
“แผน” ที่เคยเป็นพยานฝ่ายครูปรีชา ได้เดินทางไปยังสภาทนายความ ยื่นหนังสือเพื่อร้องให้สภาทนายความสอบมรรยาท เพื่อเอาผิดทนายความคนหนึ่ง โดยมีการระบุว่าทนายความคนดังกล่าว ได้ไปออกสื่อจนทำให้มีการพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ในกรณีที่กล่าวว่า ตนเคยเจอกับ ร.ต.ท.จรูญ วิมูล อดีตข้าราชการตำรวจ มาก่อนหน้านี้ และยังมีกระแสข่าวออกมาว่า ตำรวจเตรียมที่จะออกหมายเรียก ให้มาพบตำรวจเพื่อเตรียมแจ้งข้อกล่าวหาให้การเท็จ
โดยวันนี้ ( 14 มี.ค. 61) “รายการต่างคนต่างคิด” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.50 น.ได้เชิญ
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา และ
น.ส.เสาวรียา ไชยยังธัญทวี หรือ “ทนายโก้” กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชน สภาทนายความฯ เข้ามาร่วมพูดคุยในรายการ
น.ส.เสาวรียา กล่าวว่า ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กรณีที่มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวของสภาทนายความ กรณีของนายแผน นั้น ตนมองว่าทางสภาทนายความทำเหมาะสมแล้ว เนื่องจากต้องมีการสอบถาม และรับเรื่องว่า ผู้มาร้องเรียน เดือดร้อนเรื่องอะไรมา เพราะนายแผน มาร้องเรียนเรื่องทนายความ และทางสภาทนายความ ก็เป็นผู้ที่ดูแลเรื่องความประพฤติของทนาย อีกส่วนหนึ่งคือผู้ที่มาร้องสอบมรรยาททนายความ เป็นส่วนหนึ่งในคดีที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้
จากนั้น ทางผู้ดำเนินรายการได้มีการสอบถามความเห็นของ อาจารย์ปรเมศวร์ กรณีที่มีกระแสข่าวว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมออกหมายเรียกนายแผน เข้ามาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาให้การเท็จ
อาจารย์ปรเมศวร์ กล่าวว่า กรณีเรื่องพยานเท็จนั้น เมื่อก่อนได้มีแนวคิดว่าให้คดีใหญ่จบก่อน จึงจะมาดำเนินการในส่วนของพยานเท็จ แต่ในปัจจุบันนั้นหากพิสูจน์ได้ว่ามีการให้การเท็จตั้งแต่ต้น ก็เหมือนเป็นการตัดไฟตั้งแต้ต้นลม ก่อนที่จะไปสู่คดีใหญ่ อันนี้คือวิธีคิดในการทำคดีในปัจจุบัน
แต่หากพิสูจน์ความจริงได้ว่า เขาไม่ได้มีความผิด ขณะที่เราฟ้องเพราะคิดว่าเขาผิด เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปอุทธรณ์ ความคิดและรูปแบบในการดำเนินคดีตอนนี้เปลี่ยนไป
เมื่อก่อนนี้ ทนายจะสู้อัยการไม่ได้ เพราะอัยการจะปิดข้อมูลหมด ไม่ยอมให้ดูเอกสาร แต่ปัจจุบันนี้พอมีการสืบพยาน ศาลก็จะมีการนัดตรวจเอกสารทั้งสองฝ่าย โดยให้เอาเอกสารมาดูก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ ซึ่งเป็นระบบแฟร์เพลย์ เพราะฉะนั้นหากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีพยานหลักฐานชัดเจนว่า นายแผน ให้การเท็จก็เป็นความชอบธรรมที่จะดำเนินคดีได้เลยไม่ต้องรอ
อาจารย์ปรเมศวร์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีของนายแผน นั้น เท่าที่ตนทราบคดีนี้ค่อนข้างเป็นคดีที่พิเศษ พยานในคดีนี้เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งตนมักจะใช้คำว่า "พยานงอก" โดยข้อเท็จจริงแล้วนายแผน รู้เรื่องราวตั้งแต่ตอนต้นแต่กลับไม่แจ้งตำรวจ ซึ่งตนรู้สึกสงสัยในประเด็นนี้
ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือ นายแผน เข้ามาอยู่ในคดีนี้ได้อย่างไร ใครพามา และตำรวจไปรู้จักนายแผน ได้อย่างไร ซึ่งเท่าที่ทราบมานายแผน อ้างว่า ได้เล่าเรื่องลอตเตอรี่ให้เพื่อนฟัง และเพื่อนได้มาเล่าให้ตำรวจฟัง ซึ่งคนที่จะตอบคำ ถามนี้ได้ดีที่สุดคือพนักงานสอบสวน ว่าเพื่อนของนายแผน ที่อ้างถึงนี้เป็นใคร และในเรื่องของพยานนั้น ตนจะเน้นเสมอว่า ต้องมีความเป็นตรรกะในตัวมันเอง และต้องมีเหตุและผล
ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า กรณีที่ทนายนำลูกความไปออกสื่อฯ และสวมเสื่อยืด กางเกงยืนส์ ออกสื่อหรือปฎิบัติหน้าที่นั้นถือว่าผิดหรือไม่
น.ส.เสาวรียา ได้เปิดเผยว่า การที่มีบุคคลหนึ่งเดินทางไปร้องว่า ทนายทำให้ตนเองเสียหายนั้น ทางสภาทนายความ จะรับเรื่องและพิจารณา โดยผู้ที่พิจารณาคือคณะกรรมการมรรยาทเท่านั้น สำหรับเรื่องการแต่งตัวของทนายความ ส่วนตัวมองว่า การใส่กางเกงยีนส์นั้น ตนไม่เคยเห็นว่าเป็นความเหมาะสมในการทำงาน แต่ถ้าทนายคนดังกล่าวมีการสวมเสื้อที่แสดงถึงเอกลักษณ์ ก็ยอมรับได้ แต่ความจริงควรใส่เสื้อคอปก และถ้าเป็นสถานที่ราชการ ทนายความต้องแต่งตัวให้เหมาะสมต่อวิชาชีพ
อาจารย์ปรเมศวร์ มองว่า เรื่องการแต่งกายของทนายความ เป็นเรื่องที่สร้างความน่าเชื่อถือ จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ถ้าทนายใส่กางเกงยีนส์ตนรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าใส่เสื้อยืดควรต้องใส่สูททับอีกชั้นหนึ่ง
สำหรับที่ทนายความพาลูกความออกสื่อ น.ส.เสาวรียา มองว่า การพาออกสื่อถ้าลูกความยินยอมก็ถือว่าทำได้ แต่ต้องระวังในการพูดจาออกสื่อ เพราะอาจจะมีผลกระทบ เนื่องจากอาจมีการไปหมิ่นประมาทอีกฝ่าย
ด้าน
อาจารย์ปรเมศวร์ มองว่า ความจริง การออกมารายการนั้น ทางทนายความไม่ทำกัน และการมาออกสื่อ หากเปิดข้อมูลหมดก็ไม่ค่อยดี เพราะถือว่าอีกฝ่ายจะเก็บข้อมูลไว้หมด และเป็นการจับเท็จ ส่วนที่ทางพิธีกรขึ้นต้นว่าทำตัวเหมือนตัวความเองนั้น ตนอยากบอกว่า ปกติแล้วทนายเขาไม่ทำกัน ซึ่งตอนที่ตนเป็นทนายความตนก็จะทำในสิ่งที่ตนจะทำเท่านั้น และหากเราเป็นตัวความเอง โดยการแทรกไปทุกอณูของการโต้แย้งก็ไม่เหมาะ
และเรื่องที่อีกฝ่ายออกมาให้ข้อมูลว่า ไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่อีกฝ่ายบอกว่าเคยเจอ เคยมาที่บ้านนั้น ตนไม่ทราบว่าอีกฝ่ายให้ข้อมูลเมื่อไหร่ แต่เรื่องดังกล่าว ตนมองว่าการจับสัญญาณโทรศัพท์กับคดี เขาดูกันเรื่องความสัมพันธ์เรื่องเวลาและความเป็นไปได้
จากนั้น ผู้ดำเนินรายการได้สอบถามว่า หากสภาทนายความตัดสินว่าทนายผู้ถูกร้องผิดในคดีมรรยาทจริง จะมีผลอะไรต่อคดีที่กำลังทำอยู่หรือไม่
น.ส.เสาวรียา กล่าวว่า ก่อนที่จะถึงขบวนการตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่นั้น ต้องมีการกลั่นกรองก่อนว่าจะรับเป็นคดีมรรยาทหรือไม่ และกว่าจะผ่านขั้นตอนการรับเป็นคดีมรรยาทนั้น ทางสภาทนายความต้องมีการเรียกมาสอบ ซึ่งขั้นตอนต่างๆเหมือนการขึ้นศาล และหากผู้ถูกร้องถูกตัดสินว่ามีความผิด ผู้ถูกร้องก็มีสิทธิ์ที่จะยื่นอุธรณ์ได้ และหากผู้ถูกร้องไม่เห็นด้วยกับสภาทนายความ ก็ยังสามารถร้องต่อศาลปกครองได้ ซึ่งเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว อาจจะใช้เวลานานมากกว่า 1 ปี
และการที่ผู้ร้องมาร้องต่อสภาทนายความนั้น ผู้ถูกร้องถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หากสิ่งที่ผู้ร้องมาร้องต่อสภาทนายความไม่เป็นความจริง ก็อาจจะมีความผิดในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานของรัฐ ได้เช่นกัน
อาจารย์ปรเมศวร์ กล่าว่า ในเรื่องดังกล่าว หากทางสภาทนายความตัดสินว่า ผู้ถูกร้องมีความผิด ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับคดีที่ผู้ถูกร้องกำลังดูแลอยู่ เพราะในส่วนนี้เป็นเรื่องความประพฤติของทนาย ไม่ได้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดี เพราะศาลจะดูว่าข้อยุติที่แท้จริงในคดีคืออะไร
ศาลไม่ได้สนใจเรื่องความประพฤติของทนาย เพราะหากผู้ร้องถูกสภาทนายความเพิกถอนใบอนุญาติ ไม่สามารถว่าความได้ก็ต้องไปยื่นอุธรณ์เอา
อย่างไรก็ตาม
อาจารย์ปรเมศวร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนอยากตั้งข้อสังเกตให้ช่วยกันคิดว่า การที่นายแผน กล่าวอ้างว่า ถูก ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บังคับก็ดี ขู่เข็ญก็ดี ซึ่งอาจจะจริง หรือ ไม่จริงก็ได้ ซึ่งตนไม่ทราบ แต่อยากถามว่า ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีผลประโชยน์ได้เสียอะไรกับคดีนี้หรือไม่ และเหตุใจจะต้องไปกลั่นแกล้ง หรือข่มขู่นายแผน ซึ่งตนอยากให้ช่วยกันคิดในเรื่องนี้
ด้าน น.ส.เสาวรียา ได้ให้สัมภาษณ์หลังจบรายการต่างคนต่างคิด ว่าการที่มีพยานบางราย เข้าไปร้องเรียนยังสภาทนายความว่า ทนายท่านหนึ่งกระทำผิดมรรยาททนายความนั้น ตนมองว่า หากเรื่องดังกล่าวทางทนายไม่ได้ทำกระทำความผิด ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แต่เรื่องเช่นนี้ กระทบต่อความรู้สึกของทนายอย่างแน่นอน แต่ถ้าทนายไม่ได้กระทำความผิด ก็สามารถต่อสู้ตามกระบวนการได้ แต่เรื่องนี้ทางลูกความของทนายก็ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะถือว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง
ส่วนกรณีที่ทางทนายความได้มีการออกมาให้สัมภาษณ์ แต่ละสื่อนั้น ตนมองว่าทางทนายทั่วไป จะไม่ค่อยออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องคดีมากนัก โดยจะสังเกตได้ว่า เวลาสื่อสัมภาษณ์ทนายในเรื่องคดี ทางทนายมักจะไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ และไม่ค่อยพาลูกความออกสื่อ
เนื่องจากมีโอกาสทำให้คดีเปลี่ยน และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีได้ เพราะการออกสื่อ คำถามจะถูกตั้งขึ้นโดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ และเชื่อว่าทุกอย่างที่ทางลูกความได้พูดไปในรายการนั้น ทางคู่กรณีคงบันทึกไว้เช่นกัน แล้วเรื่องคดีนั้น ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลอีก แล้วการขึ้นศาล ทางลูกความต้องมานั่งจดจำอีกว่า ได้ให้สัมภาษณ์แต่ละสื่ออย่างไรบ้าง