“โรม” ยัน พรรคก้าวไกล ไม่ได้อยู่เบื้องหลังป่วนขบวนเสด็จฯ

12 ก.พ. 67

“โรม” ยัน พรรคก้าวไกล ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง แก๊งทะลุวัง ป่วนขบวนเสด็จฯ แจงที่เป็นนายประกัน แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำ 

วันที่ 12 ก.พ. 67 ที่รัฐสภา นาย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวหาว่า พรรคก้าวไกล อาจจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง กลุ่มทะลุวังที่บีบแตรใส่ขบวนเสด็จฯ ว่า 

หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลถูกปรักปรำในลักษณะนี้ อะไรคือหลักฐานว่าเราอยู่เบื้องหลัง และในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราอยู่ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง ในอดีตหลายคนเราอาจจะไปประกันตัว อาจจะไปเป็นนายประกันให้ แต่การทำในลักษณะนั้นต้องแยกออกจากการที่เขาขับเคลื่อน 

นาย รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่เราไปเป็นนายประกันให้ คือสามารถทำได้ตามกฎหมาย รวมถึงให้สิทธิ์เขาในการต่อสู้คดี ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปประกันตัวจะเห็นด้วยกับการกระทำ ไม่เช่นนั้นการประกันตัวที่เกิดขึ้นเต็มไปหมดในเรื่องต่างๆ เท่ากับคนที่ไปประกันตัวจะต้องไปเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากคิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการคิดที่ผิด 

การเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ กับพรรคก้าวไกล มีเหตุผลคืออาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง และต้องการสร้างความชอบธรรมหรือการดิสเครดิต กลุ่มทะลุวัง และต้องการทำลายพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ควรจะไปมองแบบนั้น 

“ผมยืนยันว่าเราไม่ได้ไปอยู่เบื้องหลังใคร และใครก็ไม่มาอยู่เบื้องหลังเรา พรรคก้าวไกลคือพรรคก้าวไกล ที่ทำหน้าที่โดยมีจุดยืน ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เราเชื่อในศักยภาพในการแสดงออก ส่วนเมื่อเขาแสดงออกไปแล้ว จะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แต่จุดยืนของพรรคก้าวไกลคือเราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ในการแสดงออกแบบนั้นคือการสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว เรามีบทเรียนมาแล้ว และไม่ได้ทำให้สังคมไทยดีขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย” นายรังสิมันต์ กล่าว 

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การกระทำของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน แกนนำกลุ่มทะลุวัง สร้างเสียงวิจารณ์อยู่แล้ว ซึ่งสรุปยากว่าท้ายที่สุด สังคมจะเห็นไปในทิศทางไหนต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ามีสังคมไม่เห็นด้วยกับการที่ น.ส.ทานตะวัน แสดงออกและอาจจะมีคนเห็นด้วย แน่นอนในเรื่องของการอารักขาบุคคลสำคัญ ต้องมีมาตรการ ทั้งหมดก็นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ แต่จุดยืนสำคัญที่พรรคก้าวไกลแสดงคือไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ส่วนที่มีการมุ่งเป้าไปที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น

“สิ่งที่เราพยายามทำคือให้สติทุกคน ในการที่เราไปเป็นนายประกัน หรือการเคยเป็นนายประกันในอดีต เท่ากับเราอยู่เบื้องหลังเลยหรือ คุณเชื่อขนาดนั้นจริงๆหรือ สุดท้ายคนที่แสดงออกทางการเมืองในทุกรูปแบบ เขาก็เป็นตัวของเขา เขาก็มีจุดยืนของเขา เราเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องแยกเป็นกรณีไป ซึ่งถึงที่สุด เขาก็มีสิทธิ์ต่อสู้คดีในศาล สุดท้ายกลไกกฎหมาย ก็ต้องว่ากันไปตามแต่ที่มันควรจะเป็น ซึ่งต้องได้สัดส่วนที่ควรจะเป็นด้วย สังคมของเราอยู่กันแบบนั้น อย่าไปสร้างสังคมแห่งความ หวาดกลัว อย่าให้เราต้องสร้างปีศาจตนใหม่ สร้างผีตนใหม่ขึ้นมา ซึ่งเหตุการณ์เดือนตุลาเคยสร้างบทเรียนให้เราแล้ว อย่าทำซ้ำอีกเลย มันไม่คุ้มกัน” นายรังสิมันต์ กล่าว 

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เราควรใช้เวทีของสภาฯ ใช้พื้นที่ทางการเมืองในการคลี่คลายหาทางออก และเข้าใจว่า นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ พยายามจะพูดเรื่องนี้ ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สภาฯ จะพิจารณาพูดคุยหาทางออก และการที่ปล่อยให้ไปคุยกันตามท้องถนนถ้านำไปสู่การสร้างพื้นที่ที่อันตรายก็ไม่คุ้ม ทางหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นทางออกคือกฎหมายนิรโทษกรรม

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม