ยอดสะสมอุบัติเหตุปีใหม่ 5 วัน 1,839 ครั้ง เจ็บ 1,860 คน ดับแล้ว 212 ราย

3 ม.ค. 67

 

ยอดอุบัติเหตุปีใหม่ 5 วัน 1,839 ครั้ง เจ็บ 1,860 คน ดับแล้ว 212 ราย กทม.เสียชีวิตสะสมมากสุด ตายเป็นศูนย์ มี 17 จังหวัด 

วันที่ 3 ม.ค. 67 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นาย ชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า 

สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 ม.ค. 67 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 266 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 284 คน ผู้เสียชีวิต 21 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 40.6 ตัดหน้ากระชั้นชิด 23.31 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 14.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 87.01 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.09 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 46.24 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 32.71 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-17.00 น. ร้อยละ 8.65 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 19.67 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,792 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,553 คน 

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรีและสงขลา (จังหวัดละ 12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (17 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สงขลา (3 ราย) 

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 66 – 2 ม.ค.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,839 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,860 คน ผู้เสียชีวิต รวม 212 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (69 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (73 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (15 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด 

นายชาครีย์ กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง ให้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานให้จังหวัดและ กทม.ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เนื่องจากการเก็บสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 5 วันที่ผ่านมาพบว่าการขับรถเร็วยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ 

นอกจากนี้ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ยังคงติดค้างในสถานีขนส่งและสถานีรถไฟให้สามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังคงเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ขอให้สถานประกอบการที่ให้บริการให้เช่ารถกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตรวจสอบการมีใบอนุญาตขับขี่ก่อนให้บริการ รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาสัมพันธ์ชาวต่างชาติ ทั้งที่เดินทางมาท่องเที่ยวและทำงานในประเทศไทยให้ดำเนินการขออนุญาตมีใบขับขี่หากจำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะ

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส