ชาวนาบ่นลั่นทุ่ง คิดถึงลุงตู่ รอเก้อรถเกี่ยวข้าวเมล็ดข้าวเสียหาย

27 พ.ย. 66

ชาวนา กาฬสินธุ์บ่นลั่นทุ่งรอเก้อรถเกี่ยวข้าวไม่มา เมล็ดแห้งกรอบถูกพ่อค้าตีราคาต่ำ คิดถึง ลุงตู่ อยากให้ รัฐบาล ช่วยเหลือเหมือนรัฐบาลลุงตู่

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี และเสียงสะท้อนหลังนำผลผลิตข้าวเปลือกไปขายให้กับแหล่งรับซื้อ ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว และส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวกันเสร็จแล้ว แต่ยังพบว่ามีพื้นที่นาข้าวอีกหลายตำบลที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ทั้งในส่วนพื้นที่ราบลุ่มประสบภัยน้ำท่วม ที่ต้นข้าวฟื้นตัวใหม่และออกรวงช้า รวมทั้งพื้นที่สูงที่รวงข้าวแก่จัด ต้นข้าวและรวงข้าวหักเป็นบริเวณกว้าง แต่ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยว โดยชาวนาระบุว่าขาดแคลนแรงงานคน และไม่มีรถเกี่ยวมาเกี่ยวข้าวให้

นายจำเนียร ภูดวงเดือน ชาวนาบ้านนาเชือก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าวปีนี้ เริ่มต้นที่ไร่ละ 600 บาท และมีการปรับราคาค่าจ้างสูงขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันราคาจ้างเกี่ยวข้าวตกที่ไร่ละ 1,200 บาท ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากปีนี้รถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพอ มีแต่รถเกี่ยวข้าวในพื้นที่มีไม่กี่คัน เพราะรถเกี่ยวข้าวที่เคยขึ้นมาจากหลายจังหวัดภาคกลาง ไม่ขึ้นมารับจ้าง จากการสอบถามนายหน้าระบุว่า เนื่องจากในฤดูฝนที่ผ่านมาพื้นที่นาข้าว จ.กาฬสินธุ์ถูกน้ำท่วม ได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงไม่ขึ้นมารับจ้างที่ จ.กาฬสินธุ์เพราะกลัวรายได้น้อย ไม่คุ้มทุน

นายจำเนียรกล่าวอีกว่า เมื่อรถเกี่ยวข้าวไม่เพียงพอ ก็ได้แต่รอเก้อ จะจ้างแรงงานคนโดยใช้เคียวเกี่ยวก็ปัญหาเยอะ ทั้งช้า ได้งานน้อย เรียกร้องค่าแรงสูงวันละ 400-500 บาท นอกจากนี้ต้นข้าวยังล้ม รวงข้าวหัก ทำให้เกี่ยวยาก อากาศร้อน สิ้นเปลืองค่าอาหาร หรือหากเกี่ยวเสร็จก็ต้องจ้างแรงงานมัดฟ่อนข้าว ขนฟ่อนข้าว จ้างรถสีเมล็ดข้าว หลายขั้นตอน ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนการทำนาให้สูงขึ้น การจ้างใช้รถเกี่ยวข้าวจึงสะดวกและประหยัดเงินมากกว่า แต่ปีนี้รถเกี่ยวข้าวกลับไม่เพียงพอ ติดต่อไว้แล้วหลายวัน เพิ่มค่าจ้างให้ไร่ละ 1,200 บาทก็ยังไม่มีรถเกี่ยวข้าวมาสักที สำหรับตนมีที่นา 20 ไร่ ยังไม่ได้เกี่ยวเลย หากรวมกับชาวนาคนอื่นทั้งพื้นที่นาบนที่สูง และที่นาพื้นที่ราบลุ่มที่ต้นข้าวฟื้นหลังน้ำท่วม ข้าวออกรวงทีหลังและมีวัชพืชขึ้นปกคลุม เหลืออีกหลายพันไร่ ที่ได้แต่มองต้นทางรอคอยรถเกี่ยวข้าวอยู่

นายจำเนียร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเสียหายจาก “ข้าวคอยเคียว” หรือการรอคอยรถเกี่ยวข้าวจนจะหมดฤดูเก็บเกี่ยว คือนอกจากจะทำให้ต้นข้าวล้ม รวงหัก เมล็ดข้าวแห้งกรอบ หากใช้รถเกี่ยวข้าวก็จะทำให้เมล็ดข้าวร่วงหล่นเสียหาย ส่วนที่นำไปขายก็ยังจะถูกแหล่งรับซื้อหักราคา ตำหนิว่าเมล็ดข้าวแห้งเกินไป เมื่อนำไปสีเป็นข้าวสารก็จะทำให้เมล็ดข้าวแตกหัก เป็นเมล็ดข้าวคุณภาพต่ำ และถูกกดราคาลงอีก 

อย่างไรก็ตาม อาชีพทำนาของชาวนา ที่ยังประสบปัญหารอบด้าน เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต่างกรรมต่างวาระ เริ่มจากต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่ารถไถ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าขนส่ง ค่าแรง เฉลี่ยต้นทุนไร่ละ 4,000-5,000 บาท  ผลผลิตไร่ละ 300-400 กก. ขาย กก.ละ 9-10 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้ราคาต่ำกว่านี้ 7-8 บาท ได้เงินประมาณ 3,000-4,000 บาท ขาดทุน หลังจากขายข้าวเสร็จชาวนาจึงได้แต่ถามกันว่าขายข้าวขาดทุนกี่บาท จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าของชาวนายุค 2023 และต่างก็บ่นคิดถึงรัฐบาลลุงตู่ ที่เคยมีโครงการดีๆหลายโครงการอุ้มชาวนา

“เมื่อผลตอบแทนหยาดเหงื่อแรงงานที่ทำนามาทั้งปีคือขาดทุน และความระทมทุกข์ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลจัดโครงการช่วยเหลือชาวนา เหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆและรัฐบาลลุงตู่ที่เคยทำไว้ เพราะจะได้บรรเทาความเดือดร้อน ลดค่าใช้จ่าย ขายข้าวแล้วยังจะพอมีกำไรและทุนสำหรับทำนาในปีต่อไป สำหรับตนยังไม่รู้ว่านาปรังหรือนาฤดูแล้งที่จะถึง จะทำได้ทำหรือเปล่า เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเลย เนื่องจากไม่มีรถเกี่ยวข้าวมาเกี่ยวข้าวให้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ได้แต่นอนนารอคอยรถเกี่ยวข้าวอยู่” นายจำเนียรกล่าวในที่สุด.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส