เทศกาลดิวาลี คืออะไร เปิดประวัติเทศกาลแห่งแสงสว่าง พร้อมวิธีสักการะขอพรพระแม่ลักษมี

11 พ.ย. 66

เทศกาลดิวาลี คืออะไร ตรงกับวันไหน เปิดประวัติเทศกาลแห่งแสงสว่าง วันหยุดเทศกาลที่สำคัญที่สุดของอินเดีย พร้อมวิธีสักการะขอพรพระแม่ลักษมี

เทศกาลดิวาลี หรือบางคนก็เรียกว่า “ดีปาวลี” เป็นเทศกาลสำคัญของชาวอินเดีย ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดีย และยังเป็นวันบูชาพระแม่ลักษมี ช่วงเทศกาลดีปาวลีจะเป็นเวลาที่ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจะไปเยี่ยมกันและกัน แลกเปลี่ยนของขวัญกัน นิยมใส่เสื้อผ้าใหม่ เลี้ยงอาหาร ทำบุญทำทานโดยเฉพาะแจกอาหารหรือให้เงินคนยากจน และจุดพลุกับเล่นประทัดไฟด้วย

การเฉลิมฉลองดิวาลีก็เพื่อเป็นการระลึกถึงการวิวาห์ระหว่างพระแม่ลักษมี (Lakshmi) กับพระนารายณ์ (Narayana) และเชื่อกันว่าเป็นวันประสูติพระแม่ลักษมี โดยผู้ศรัทธาจะบูชาพระแม่ลักษมี ด้วยแสงไฟจากตะเกียงประทีปจุดสว่างตลอดวันตลอดคืนเพื่อสรรเสริญและขอพรพระแม่ลักษมีให้ประทานความสมบูรณ์แก่ชีวิต

เทศกาลดิวาลี 2566 ตรงกับวันไหน

การกำหนดวันดีปาวลีจะทำตามปฏิทินจันทรคติ สำหรับปี 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน

32m29hg-highres

ความหมายของ ดิวาลี

คำว่า “ดิ” (di) หรือ “ดีป” (dip/deep) คือ ทีปหรือประทีป ส่วนอีกคำที่นำมาผสมคือ “อวลิะ” (avalih) หมายถึง แถวหรือแนว ในภาษาสันสกฤตจึงมีรูปเป็น “ทีปาวลิะ” ในภาษาฮินดีออกเสียง “ดีปาวลี” หมายถึง ประทีปที่ชาวอินเดียจุดไว้แล้ววางเป็นแถวนอกบ้านของตนอย่างงดงาม การจุดประทีปนี้เป็นสัญลักษณ์ของแสงภายในที่ปกป้องความมืดมัว หรือสัญลักษณ์ว่าด้วยชัยชนะของความสว่างไสวเหนือความมืดมัว ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่

พิธีกรรมและการเฉลิมฉลอง 5 วัน

การเฉลิมฉลองจะใช้เวลาทั้งหมด 5 วัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงใช้คำว่า “วันหยุดเทศกาล” เพราะไม่ใช่แค่วันเดียว

วันแรกคือ วันธันเตรัส (Dhanteras) สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านและซื้อทองชิ้นเล็ก

วันที่สองคือ วันนรกจาตุรทศี (Naraka Chaturdashi) หรือ โฉฏีดีปาวลี (Choti Dipawali) เรียกอีกอย่างคือวันดีปาวลีเล็ก ในวันนี้ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยจะรำลึกถึงการทำลายล้างอสูรที่มีนามว่านรกาสูร และในวันนี้ด้วยที่บางครอบครัวจะสวดมนต์รำลึกถึงบรรพบุรุษของตน

วันที่สามคือ วันบูชาพระแม่ลักษมี (Lakshmi Puja) วันที่สามถือเป็นวันหลักของ 5 วันนี้ ในวันนี้ครอบครัวชาวอินเดียจะขอพรจากพระแม่ลักษมีเพื่อความเจริญรุ่งเรือง พร้อมกับจุดประทีปวางเป็นแถวอย่างสวยงาม นอกจากนี้ก็ยังมีการเล่นประทัดไฟ และไปวัดเพื่อไหว้พระด้วย

วันที่สี่คือ วันโควรรธันปูชา (Goverdhan Puja) หรือวันพลิประติปทา (Balipratipada) หรือวันอันนะกูฏ (Annakut) ในวันนี้ก็จะบูชาระลึกถึงชัยชนะของพระกฤษณะที่มีต่อพระอินทร์ (Indra) ราชาแห่งทวยเทพ วันนี้เป็นวันแรกของเดือนการติกะด้วย ดังนั้นหลายคนจะนับวันนี้เป็นวันปีใหม่ด้วย ในวันนี้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยนิยมทำพิธีทางศาสนาและเปิดสมุดบัญชีใหม่ คือไม่ใช่สมุดบัญชีธนาคาร หากแต่เป็นสมุดบัญชีเพื่อการบันทึกธุรกรรมต่าง ๆ ของกิจการตน การเปิดสมุดบัญชีใหม่ก็เพื่อความมงคลด้วย

วันที่ห้าคือ วันภาย ดูช (Bhai Dooj) ภาย ฏีกา (Bhai Tika) หรือ ภาย บีช (Bhai Bij) คำว่า “ภาย” (bhai) จะแปลว่าพี่ชายหรือน้องชายก็ได้ ดังนั้นในวันนี้พี่ชายน้องสาวหรือน้องชายพี่สาวก็ร่วมฉลองเพื่อเสริมสร้างความผูกพันระหว่างพี่น้อง ในวันนี้พี่สาวหรือน้องสาวก็จะไหว้พระขอพรให้พี่ชายหรือน้องชายประสบความสำเร็จด้านการงานหรือพบเจอแต่สิ่งดีงามตลอดไป

3434493-highres

ขั้นตอนการไหว้พระแม่ลักษมี

- อัญเชิญพระแม่ลักษมีลงจากแท่นบูชามาทำความสะอาด
- ถวายของไหว้
- ถวายเงินใหม่ เพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคลหลังเสร็จพิธี
(ควรแต่งกายสะอาด สีสันสดใส งดสีมืดดำ)

เครื่องบูชา

- ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ลแดง กล้วย แก้วมังกร
- น้ำหอม
- เทียนหอม
- ดอกบัว/ดอกกุหลาบ
- ขนมโมทกะ ขนมลาดู ขนมเพชร ขนมบัฟฟี่
- น้ำเปล่า นบโค น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว

บทสวดบูชา องค์พระแม่ลักษมี

ก่อนการสวดบูชาต่อพระแม่ลักษมีต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ โดยต้องสวดคาถา

โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา

จากนั้นจึงสวดคาถาบูชาพระแม่ลักษมี

คาถาบูชาพระแม่ลักษมี แบบย่อ (ทางพราหมณ์)
“โอม ศรี มหาลักษมี เจ นะมะหะ”

หรือ

“โอม พระลักษมี อิตถีเทวะ เมตตัญจะ มหาลาโภ

ทุติยัมปิ พระลักษมี อิตถีเทวะ เมตตัญจะ มหาลาโภ

ตะติยัมปิ พระลักษมี อิตถีเทวะ เมตตัญจะ มหาลาโภ”

คาถาบูชาพระแม่ลักษมี

“โอม ชยะ ศรี ลักษมี มาตา (3 จบ)

โอม ศรี ลักษะมิไย นะมะห์ (3 จบ)

โอม มหาลักษะ มิไย นะโม นะมะหะ

โอม วิษณุ ปรียาไย นะโม นะมะหะ

โอม ธะนะ ประทาไย นะโม นะมะหะ

โอม วิศวา จะนันไย นะโม นะมะหะ

ยา เทวี สะระวะ ภูเตชุ

ลักษมี รูเปนะ สัม สะถิตา

นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย

นะโม นะมะหะ”

สถานที่ไหว้พระแม่ลักษมี

- เกษร พลาซา แยกราชประสงค์ ชั้น 4 กรุงเทพฯ
- วัดแขกสีลม กรุงเทพฯ
- ศาลพระแม่ลักษมีมหาเทวี เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ
- โบสถ์เทพมณเฑียร ย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ
- วัดไผ่เงินโชตนาราม กรุงเทพฯ
- วัดวิษณุ ยานนาวา กรุงเทพฯ
- ล้านนาเทวาลัย เชียงใหม่

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม