โฆษกกรมสุขภาพจิต เผย ต้องพิสูจน์อีกยาวเรื่องผลสุขภาพจิตเด็ก 14

4 ต.ค. 66

โฆษกกรมสุขภาพจิต เผยยังประเมินไม่ได้ว่าเด็ก 14 ป่วยทางจิตหรือไม่ ต้องตรวจสอบอีกหลายด้าน ชี้ทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้น ครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้อง

วันนี้ 4 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวมีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงกรณีเด็ก 14 ใช้อาวุธปืนกราดยิงที่ห้าง พารากอน ว่าจากคลิปวีดีโอที่มีการนำเสนอการผ่านทางสื่อออนไลน์ เป็นคลิปสั้นๆเพียง 5 วินาที ซึ่งไม่สามารถประเมินได้ว่าเด็กนั้นมีอาการป่วยทางจิตได้หรือไม่

เนื่องจากต้องรอข้อมูลจากหลายๆด้านมาประกอบกัน การที่เราเห็นเพียงคลิปสั้นๆว่าเด็กนั้นมีอาการผิดปกติ อาจจะยังไม่เพียงพอ สำหรับการนำมาประเมินว่าเด็กนั้นป่วยทางจิตหรือไม่

เหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้งในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้ก่อเหตุนั้นเป็นเด็กอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่สิ่งที่น่ากังวลใจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่หลายส่วนต้องหันมาตระหนักว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ ความรุนแรงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และช่วงอายุของผู้ก่อเหตุจะลดลงไปเรื่อยๆ หากประเทศของเราอไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรเลยเหตุการณ์แบบนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำได้

ส่วนกรณีที่ในสังคมมีการถกเถียงกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือเกมนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่กับพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยของกรมสุขภาพจิต ระบุว่าเกมนั้นสามารถที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงได้ในบางบุคคล แต่บางคนก็มีความรุนแรงอยู่แล้ว ก่อนจะเข้าไปเล่นเกมในลักษณะนี้ ซึ่งระบุไม่ได้แน่ชัด อย่างเช่นไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เปรียบเทียบกับบุคคลที่มีความรุนแรงอยู่แล้วกับ เกมที่มีความรุนแรง ว่าสิ่งไหนเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง

ซึ่งหมายความว่าเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม คนจะตัดปัญหาต่างๆออกไปและพุ่งเป้าไปที่เกมเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าก่อนที่จะไปเล่นเกม บุคคล คนนี้ มีพฤติกรรมหรือมีความรุนแรงมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งอาจจะมีปัจจัยอื่นๆมาประกอบอีก แต่แค่สังคมด่วนสรุป เพื่อต้องการหาแพะหาคนมารับผิดเพียงเท่านั้น

ส่วนลักษณะการยิงนั้นเด็กเลือกยิงผู้หญิงเป็นหลัก ซึ่งต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นความบังเอิญ ที่กลุ่มผู้หญิงอยู่ตรงนั้นหรือไม่ หรือมีการเจาะจงที่จะยิงผู้หญิง ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจในกระบวนการทางความคิดของตัวเด็ก รวมถึงอารมณ์ของเด็กด้วย เพื่อจะนำไปสู่กระบวนการ การรักษาหรือบำบัดเยียวยาต่อไป

ส่วนปมปัญหาด้านครอบครัวนั้นมองว่าในทุกๆกรณีที่มีความรุนแรงครอบครัวนั้นมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งครอบครัวหลายๆครอบครัวก็เป็นปัจจัยในการกระตุ้นก่อให้เกิดความรุนแรงได้ แต่ก็อาจจะมีปัจจัยต่างๆร่วมด้วย

ส่วนการถอดบทเรียน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนเองมองว่าตอนนี้สังคมอยู่ในระหว่างความหวาดกลัว และมีความกังวลใจ ซึ่งบทเรียนในครั้งนี้เป็นบทเรียนที่แตกต่างออกไปจากครั้งก่อนๆ ซึ่งผู้ก่อเหตุนั้นอายุน้อยกว่าครั้งก่อนๆ การถอดบทเรียนซ้ำ เป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำ ซึ่งการผลิตซ้ำทางอาชญากรรมนั้น เป็นสิ่งที่ตนเองกังวลใจมากที่สุด.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส