วิธีรับมือ ภาวะจิตตก-ซึมเศร้า หลังอ่านข่าวที่มีเนื้อหาอ่อนไหว กระทบจิตใจ

4 ต.ค. 66

4 วิธีรับมือ ภาวะจิตตก - ซึมเศร้า หลังอ่านข่าว ที่มีเนื้อหาอ่อนไหว กระทบจิตใจจนทำให้เกิดอาการ หดหู่ จิตตก ซึมเศร้า โกรธแค้น ไม่สบายใจ

เมื่อข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ และอ่านได้ง่ายในยุคปัจจุบันทั้งบนจอทีวี หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่โลกออนไลน์ จึงทำให้หลายคนสามารถเกิดอาการ ภาวะจิตตก หรือภาวะซึมเศร้า ภายหลังจากรับข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาณจึงได้ออกมาแนะนำวิธีที่จะรับมือกับอาการ หดหู่ จิตตก ซึมเศร้า โกรธแค้น ไม่สบายใจ หรือมีภาพติดตาบางอย่างเกิดขึ้น ที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการติดตามข่าวสาร

ไอสตรอง เว็บไซต์หน่วยงานเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง ผ่านการให้คำแนะนำทางแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยาองค์กร ได้เปิดเผย “4 วิธีป้องกันใจไม่ให้ซึมเศร้าจากข่าวดราม่า” ดังนี้

วิธีรับมือภาวะจิตตกหลังอ่านข่าว

1.เสพแค่รู้ภาพรวมและบทสรุป

ผู้ผลิตข่าวในปัจจุบันหลายรายที่มักเล่นใหญ่ใช้ดราม่าเพื่อสร้างกระแสและเรทติ้ง ซึ่งมักจะปลุกปั่นให้ผู้เสพอย่างเรา ๆ เกิดสภาวะอารมณ์คล้อยตาม ดังนั้นหากคุณจำเป็นต้องอัพเดทเพื่อรู้ จึงแนะนำให้คุณหารับข้อมูลที่สรุปมาให้แล้ว และอ่านด้วยใจที่เป็นกลาง เป็นบุคคลที่สามที่รับรู้เรื่องราวอยู่ห่าง ๆ แต่ไม่เอาตัวเองเข้าไปจมอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้นด้วย

อีกทั้งให้ระวังคอมเม้นจากผู้เสพรายอื่น ๆ ที่มักแสดง “ความคิดเห็น” ซึ่งหลายครั้งมักจะกระตุ้นให้คุณเกิดความรู้สึกที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ที่แน่ ๆ คุณไม่ควรจะลงตะลุมบอนร่วมคอมเม้นต์อย่างเมามันด้วยอีกคน

2. รีบพาตัวเองกลับไปหาสิ่งที่จรรโลงใจ

เวลาที่คุณเสพข่าวร้าย ๆ นั้น ภาพเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ มักจะติดอยู่ในหัว คอยติดตาม และครอบงำคุณไปอีกซักระยะหนึ่ง ยิ่งคุณปล่อยไว้นานและเอาแต่คิดถึงแต่เรื่องนั้นจะยิ่งทำลายสุขภาพจิตของคุณ ทางที่ดีคุณควรรีบเปลี่ยนเรื่องราวในหัว โดยการหัดไปรับเรื่องดี ๆ หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายอย่างอื่นให้เร็วที่สุด เช่น การออกกำลังกาย

3. ไม่ขยายผลและเอาแต่พูดถึงมัน

การเอาแต่พูดถึงเรื่องไม่ดี ก็จะยิ่งเป็นการขยายผลและกระตุ้นให้สมองของคุณทำงานเพื่อย่อยข้อมูลพวกนั้น ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษเกิดขึ้นรอบตัวของคุณเอง ดังนั้น เพื่อกำจัดให้หายไปจากหัวสมองของคุณให้เร็วที่สุด คุณจึงไม่ควรจะเอาแต่พูดถึงเรื่องเหล่านั้น

4. ไม่เสพ

ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการไม่เสพข่าวร้าย หากคุณจะสังเกตได้ ว่าข่าวร้ายส่วนใหญ่ไม่ได้มีประโยชน์หรือสร้างสรรค์พอที่จะเป็นประโยชน์กับชีวิตของคุณ หลายครั้งคุณเสพเพราะรู้สึกสนุก (เพียงชั่วคราว) แต่หากคุณยิ่งเป็นคนเครียดง่าย หายเศร้ายาก อ่อนไหว หรือมีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้ว คุณยิ่งต้องห่างไกลจากเรื่องราวแย่ ๆ เหล่านั้น

ข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิตคลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส