1 ตุลาคม วันผู้สูงอายุสากล ดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี

3 ต.ค. 66

วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี โดยองค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้นเพื่อยกย่องและแสดงถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และยังสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมในอนาคตด้วยความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมา

1

การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีและแข็งแรง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โครงการ Gen ยัง Active 50+ โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ GSK มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมในด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของกลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผ่านแพลตฟอร์ม เว็บไซต์และ LINE OA: @GenYoungActive เพื่อกระตุ้นให้เกิดการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ลดโอกาสการเกิดโรคหรือปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ

พญ. บุษกร มหรรฆานุเคราะห์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK บริษัท Biopharma กล่าวว่า GSK ให้ความสำคัญในการค้นคว้าวิจัยยาและวัคซีนเพื่อให้สามารถก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในบริบทปัจจุบันที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในประเทศไทยจำนวนกว่า 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศ GSK สนับสนุนให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยได้จัดทำโครงการ Gen ยัง Active 50+ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภาคีเครือข่าย เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมในด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของกลุ่มที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือ Gen ยัง Active ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มีอิสระและมีความสุขเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

2

“เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุสากล GSK เชิญชวนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีปัญหาทางสุขภาพจากการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น การสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ป้องกันโรคที่วัย 50 ปีขึ้นไปต้องให้ความสำคัญจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากโรค การดูแลและป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ผู้สูงวัยจึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและระวังโรคที่มักจะเกิดในผู้สูงอายุ ทั้งนี้บุคคลในครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป และเข้ารับการตรวจปัญหาสุขภาพตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ” พญ. บุษกร กล่าว

ทั้งนี้ โรคที่มักจะเกิดในผู้สูงอายุแต่ผู้คนไม่ค่อยตระหนักถึงความอันตรายโรคหนึ่ง คือ โรคงูสวัด ซึ่งสร้างความเจ็บปวดยาวนานแก่ผู้ป่วย โดยพบว่าคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และเคยเป็นโรคอีสุกอีใส มากกว่า 90% จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด เพราะอายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลง เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันตกลง จะทำให้เชื้อไวรัสที่เคยทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสกลับมาก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัด ทำให้เกิดอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง มีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นเเถวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ด จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดแบบเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทง อาจเป็นตลอดเวลาหรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดเจ็บแบบแปร๊บ ๆ ตามแนวเส้นประสาทหลังจากที่ผื่นหรือตุ่มน้ำของงูสวัดหายไปแล้ว

ที่สำคัญ โรคงูสวัดยังส่งผลต่อระบบประสาทและก่อให้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา โดยเมื่อเกิดโรคงูสวัด เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายตามเส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทร่วมด้วยเสมอ อาจจะเกิดชั่วคราวหรือจะเกิดรุนแรงจนเป็นถาวร สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ อาการปวดตามแนวเส้นประสาท ซึ่งบางรายอาจปวดนานหลายปีแม้ว่าผื่นงูสวัดจะหายแล้ว โดยผู้สูงอายุจะมีอาการที่รุนแรงและนานกว่าคนอายุน้อย และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้ อวัยวะบริเวณนั้นไม่มีแรง และขยับหรือเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นได้น้อยลง

“ทุกวันนี้คนทั่วโลกมีอายุขัยสูงขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นร่างกายจะอ่อนแอลง และยังมีโรคประจำตัว จำเป็นต้องกินยาหลายอย่าง ยาที่กินไปก็อาจไปกดภูมิทำให้ภูมิต่ำลง โรคงูสวัดมักจะเกิดเมื่ออายุมากขึ้น ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปจะเริ่มค่อย ๆ เป็นโรคงูสวัดมากขึ้น อายุยิ่งมากเท่าไร ก็มีโอกาสเป็นสูงขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนที่มีอายุเกิน 50 ปี ก็เหมือนมีระเบิดเวลาไปซ่อน รอวันที่จะปะทุออกมาเป็นงูสวัด ถามว่า จะปะทุเมื่อไร เมื่อร่างกายอ่อนแอ คนที่อายุเพิ่มขึ้น ร่างกายก็จะอ่อนแอลง โดยผู้สูงอายุที่เป็นโรคงูสวัดจะมีอาการปวดเรื้อรังยาวเป็นเดือน หรือบางคนอาจจะพัฒนาเป็น Stoke ได้” รศ. (พิเศษ) นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าว

ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำว่า ในการป้องกันโรคงูสวัด จึงควรทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะการมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคงูสวัด และปัจจุบันมีวัคซีน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคงูสวัด เพราะแม้ร่างกายแข็งแรง แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่เป็นโรคงูสวัด วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจึงเป็นเครื่องมือที่ดีอันนึงที่จะสามารถป้องกันโรคงูสวัดได้

ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรเรียนรู้ถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ รวมถึงวิธีป้องกันและดูแล อาทิ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และรับการฉีดวัคซีนป้องกันตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อีกยาวนานอย่างมีสุขภาพที่ดีและมีความสุขในการใช้ชีวิต

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม