รวบแก๊งหลอกกู้เงินออนไลน์ พบเงินหมุนเวียนกว่า 160 ล้าน

5 ก.ย. 66

ตำรวจสอบสวนกลาง รวบแก๊งหลอกกู้เงินออนไลน์พบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 160 ล้าน

 

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จับกุม

1.น.ส.ณัฐสิมาฯ  อายุ 21 ปี  ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2837/2566 ลงวันที่ 1 ก.ย.2566 

2.นายกวินท์ฯ อายุ 29 ปี  ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2838/2566 ลงวันที่ 1 ก.ย.2566 

3.นายจิรัฏฐ์ฯ อายุ 32 ปี  ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2840/2566 ลงวันที่ 1 ก.ย.2566 

โดยกล่าวหากระทำผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”สถานที่จับกุม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย,พะเยา ,ลำปาง

พฤติการณ์ สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณช่วงต้นปี 2565 ได้มีผู้เสียหายจำนวน 4 ราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ด้วยเหตุถูกกลุ่มผู้กระทำผิดแอบอ้างตนเองโดยการเปิดเพจเฟซบุ๊กสาธารณะชื่อ “สินเชื่อเงินกู้ด่วน1”โฆษณาชักชวนให้กู้เงินผ่านเพจเฟซบุ๊ก

โดยอ้างว่า สามารถปล่อยสินเชื่อเชื่อส่วนโดยไม่เช็คเครดิต กู้ได้ทุกอาชีพ รับเงินจริง เชื่อถือได้ ดอกเบี้ยต่ำ โดยมีลูกเพจหลายรายเข้าคอมเม้นสนับสนุนว่าสามารถกู้ได้จริงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อประชาชนหลงเชื่อจะให้ติดต่อทางแอปพลิเคชันไลน์ จากนั้นคนร้ายจะให้แจ้งชื่อ-นามสกุล,เบอร์โทรศัพท์,สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน,อาชีพ,เงินเดือนปัจจุบัน และหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน พร้อมวงเงินที่จะทำการกู้ เพื่อลงทะเบียนขอกู้เงิน 

ต่อมาคนร้ายจะหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินให้  ซึ่งอ้างว่าเป็นค่าธรรมเนียมในการปล่อยเงินกู้ ,ค่าธรรมเนียมเอกสาร ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 10 ของยอดเงินกู้ เช่นกู้ 50,000 บาท จะต้องโอนไป 5,000 บาท เมื่อประชาชนหลงเชื่อโอนไป คนร้ายแจ้งขั้นตอนต่อไปว่าได้ทำการอนุมัติสินเชื่อแล้ว แต่จะต้องโอนเงินมาให้อีกเพื่อเป็นค่าปลดล็อกยอดกู้ และค่ามัดจำ และจะหลอกต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยอ้างเหตุผลต่างๆเพื่อให้ประชาชนโอนเงินให้เพิ่ม แต่ท้ายที่สุดกลับไม่ได้รับโอนเงินกู้จริงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ผกก.5 บก.ปอศ. จึงสั่งการให้ดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากการสืบสวนพบว่า คนร้ายใช้บัญชีในการกระทำผิดจำนวน 8 บัญชี โดยแบ่งหน้าที่เป็น บัญชีที่ใช้รับโอนเงินจากผู้เสียหาย , บัญชีที่ใช้โอนเงินเป็นทอดๆ และบัญชีที่ใช้รับผลประโยชน์โดยถอนเงินออกและนำไปใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 160 ล้านบาท จากการสืบสวนพบว่าบัญชีที่รับผลประโยชน์สุดท้ายนั้นเป็นบัญชีของชาวต่างชาติ ซึ่งมีการตระเวนกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย- พม่า จำนวนหลายครั้ง ยอดรวมกว่า 10 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการโอนเงินไปซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกกว่าหลายรายการ

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนจนสามารถพิสูจน์ทราบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิด จำนวน 9 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาในความผิดฐาน“ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” 

 ต่อมาในวันที่ 2 และวันที่ 4 ก.ย. 2566  เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้จำนวน 3 ราย โดยสามารถจับกุมได้ในพื้นที่ จ.ลำปาง ,จ.พะเยา และ จ.เชียงราย ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก  6 ราย จากการสืบสวนพบข้อมูลว่า ได้หลบหนีไปกบดานอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อนำตัวกลับมาดำเนินคดีต่อไป

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส