แรงงานโคราชสั่งนายจ้างเข้าให้ข้อมูล "พี่กบ" ไม่ให้ลูกน้องลางานดูใจแม่

17 ส.ค. 66

แรงงานโคราชสั่งนายจ้างเข้าให้ข้อมูล "พี่กบ" ไม่ให้ลูกน้องลางานดูใจแม่ ระบุหากผิดกฎหมายแรงงานต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้าง

 

จากกรณีเพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้รีเทริน์part6 ได้โพสต์เรื่องราวที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ตัดพ้อหลังคุยแช็ตกับหัวหน้าที่ทำงาน เพื่อขอลาไปดูแลคุณแม่ป่วยหนักและใกล้จะสิ้นใจ แต่หัวหน้ากลับไม่ให้ลา แล้วถามต่อว่าจะลาออกใช่หรือไม่ พร้อมให้มาเขียนใบลาออกหากทำธุระเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหัวหน้างานคนดังกล่าวว่าไม่มีคุณธรรมและไร้น้ำใจกับพนักงานคนดังกล่าว แม่เสียชีวิตแต่กลับไม่ให้ลา

ล่าสุด วันนี้ (17 สิงหาคม 2566) นายนิสัย สุขระ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ทราบเรื่องนี้จากสื่อต่างๆ ตนเองก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเดินทางไปตรวจสอบที่โรงแรมดังกล่าว ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แต่ไม่พบผู้บริหารของโรงแรมซึ่งเป็นนายจ้าง พบเพียงหัวหน้า รปภ.เท่านั้น

โดยหัวหน้า รปภ.แจ้งว่าผู้บริหารได้เดินทางไปร่วมงานศพของแม่พนักงานคนดังกล่าวที่ จ.บุรีรัมย์กันหมด ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ต้องอยู่ที่ผู้บริหารเท่านั้น

เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจึงได้มีหนังสือเชิญนายจ้างให้มาพบในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค.นี้ เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบเรื่องของการลากิจที่โรงแรมกำหนดไว้ แต่ถ้าดูตามกฎหมายแรงงานนั้น ให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์ในการลากิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างในวันที่ลากิจธุระเท่ากับวันทำงานปกติได้ปีละไม่เกิน 3 วันทำงาน

ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ก็จะดูว่ากรณีที่ลูกจ้างลากิจธุระไปดูแลแม่ที่ป่วยและต่อมาแม่ก็เสียชีวิตลงนั้น ลูกจ้างได้ใช้สิทธิ์ในการลากิจธุระอันจำเป็นอะไรไปบ้างแล้วหรือไม่

กรณีของการเลิกจ้างนั้น เรื่องของการจ้างและการเลิกจ้าง ก็เป็นสิทธิ์ของนายจ้าง แต่ก็ต้องดูเหตุว่าเข้าข่ายข้อยกเว้นที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นนายจ้างก็สามารถเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย แต่หากเข้าข่ายข้อยกเว้น นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างตามอายุงาน และตามข้อกฎหมายที่กำหนด

ถ้าเข้าข่ายข้อยกเว้นและมีลูกจ้างมายื่นคำร้องกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ก็จะเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยคำร้อง พร้อมกับเชิญฝ่ายนายจ้างเข้าพบเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายมีการตกลงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมรับเข้าทำงานตามปกติ หรือหากไม่รับเข้าทำงานแต่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด การยื่นคำร้องก็จะเป็นอันยุติลง แต่หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานตรวจแรงงานก็จะมีคำสั่งเป็นหนังสือภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างมายื่นคำร้อง

โดยประมวลตามข้อมูลเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน แล้ววินิจฉัยออกมาว่าลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยหรือไม่ โดยเมื่อทั้งสองฝ่ายได้รับหนังสือคำสั่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยก็ตาม หรือหนังสือคำสั่งลูกจ้างไม่ได้รับเงินค่าชดเชยก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็สามารถนำหนังสือคำสั่งนี้ไปยื่นอุทธรณ์ที่ศาลแรงงานภาค 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมาได้ภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือคำสั่ง

โดยถ้าหากนายจ้างเป็นฝ่ายอุทธรณ์ กรณีพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชย นายจ้างก็ต้องนำเงินตามจำนวนในคำสั่งนั้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ศาลก่อน จึงจะสามารถขอยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ถ้าหากภายใน 60 วัน เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน ก็มีสิทธิ์ขอขยายเวลาต่อได้อีก 30 วัน ซึ่งกรณีการขอขยายเวลาก็จะเป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด จะพิจารณาอนุญาตให้หรือไม่

ถึงอย่างไรก็ตามกรณีลูกจ้างรายนี้ที่เป็นข่าว ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างรายนี้ไปแล้วหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องรอนายจ้างมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค.ที่จะถึงนี้ก่อน.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส