หยุดหายใจขณะหลับ ภาวะผิดปกติที่พบมากในผู้ที่มีปัญหานอนกรน

13 ส.ค. 66

โรคนอนหลับแล้วแล้วหยุดหายใจ หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) ภาวะผิดปกติที่พบมากในผู้ที่มีปัญหานอนกรน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอากาศสามารถไหลเข้าสู่ปอดได้น้อยลง จนถึงขั้นไม่มีอากาศไหลเข้าสู่ปอดเลยเป็นเวลายาวนานถึง 10 วินาที หรืออาจยาวนานกว่านั้น

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะผิดปกติที่พบมากในผู้ที่มีปัญหานอนกรน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอากาศสามารถไหลเข้าสู่ปอดได้น้อยลง จนถึงขั้นไม่มีอากาศไหลเข้าสู่ปอดเลยเป็นเวลายาวนานถึง 10 วินาที หรืออาจยาวนานกว่านั้นในบางเคส ปัญหาที่ตามมาคือ ออกซิเจนในเลือดต่ำลง ในขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดกลับเพิ่มสูงขึ้น อาการเหล่านี้พบได้มากในผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน และอาจพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจกล่าวได้ว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับที่มาร่วมกับอาการนอนกรนเป็นโรคที่อันตราย และควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้อาจให้คนใกล้ชิดที่นอนด้วยช่วยกันสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

หยุดหายใจขณะหลับ

 

สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เกิดจากอวัยวะในระบบหายใจเกิดความผิดปกติ เช่น จมูก ช่องคอ ผนังคอหอย เป็นต้น ทำให้บริเวณดังกล่าวแคบลง เมื่อหายใจจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนกลายเป็นเสียงกรนตอนนอนหลับซึ่งเป็นสัญญาณหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากระบบหายใจที่แคบจะทำให้ร่างกายพยายามหายใจให้แรงขึ้น การกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้ทางเดินหายใจแคบลงทำให้ไม่สามารถหายใจเข้า-ออกได้ชั่วขณะหนึ่ง อาการนี้เองที่เรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”

 

ใครบ้างที่เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยแต่ส่วนมากจะพบในเพศชายอายุประมาณ 30 ปี และจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ โดยจะมีความเสี่ยงร่วมกันในทุกเพศทุกวัย ดังนี้

  • ลักษณะโครงสร้างของใบหน้า ผู้ที่มีช่องคอช่องจมูกแคบ มีคางสั้น กะโหลกศีรษะผิดรูป เป็นต้น ส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผลกระทบจากโรค โรคอ้วน โรคด้านหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน
  • เกิดจากการทานยา ยาบางชนิดสามารถส่งผลให้เกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในระบบหายใจได้
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การดื่มแอลกอฮอล์รวมไปถึงการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เช่นกัน

สำหรับเพศหญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นในวัยหมดประจำเดือน และในเด็กมักพบจากสาเหตุของอาการต่อมทอนซิล และอดีนอยด์โต หรืออักเสบเรื้อรัง

 

อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สามารถทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิตตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษา เช่น โรคด้านหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ความอ่อนเพลียในตอนกลางวันผลกระทบจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ระหว่างขับรถ

 

ประเภทภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

1. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดอุดกั้น Obstructive sleep apnea (OSA) เป็นความผิดปกติที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากจนกระทั่งทำให้เกิดหยุดหายขณะหลับใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ

2. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดสมองส่วนกลาง Central sleep apnea (CSA) เป็นความผิดปกติจากสมองส่วนกลางของคุณไม่ส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจ ให้เหมาะสม หรือจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่กดสมองส่วนกลางไว้ ทำให้หยุดหายใจขณะหลับ เช่น ยานอนหลับ

3. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดซับซ้อน Complex sleep apnea syndrome เป็นความผิดปกติที่ผสมผสานทั้งแบบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดอุดกลั้น(OSA) และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ชนิดสมองส่วนกลาง (CSA) ทำให้หยุดหายใจขณะหลับโดยอัตโนมัติ

 

อาการหยุดหายใจขณะหลับ

อาการที่บ่งบอกว่าคุณมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ สามารถเช็กได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางบุคคลยากที่จะระบุอาการได้ว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นควรพบแพทย์เมื่อมีอาการข้างต้นดังกล่าว 2-3 ข้อขึ้นไป

  • อาการนอนกรนเสียงดังมากๆ
  • มีบุคคลใกล้ชิดสังเกตเห็น ว่าคุณมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ
  • ตื่นขึ้นมาด้วยอาการคอแห้งผาก ปากแห้ง
  • สะดุ้งเฮือกขณะนอนหลับ
  • ตื่นขึ้นมาด้วยอาการปวดหัว
  • มีอาการเหนื่อยง่าย
  • มีอาการง่วงนอนตลอด ทั้งวัน
  • ตื่นขึ้นมาด้วยความไม่สดชื่น

 

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะนี้มีขั้นตอนและวิธีการรักษาหลายรูปแบบทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับระดับอาการ และความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับแต่ละรายด้วย ดังนี้

การปรับพฤติกรรม ทำได้ด้วยการดูแลให้น้ำหนักอยู่ในระดับมาตรฐาน พยายามอย่านอนหงายนอนให้ระดับศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว นอนพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามเลี่ยงยาที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน เพราะจะมีผลต่อสมองส่วนกลาง งดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่

รักษาจากโรคต้นเหตุ หากพบว่ามีโรคร้ายที่เป็นเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อหรือระบบประสาท เป็นต้น

รักษาด้วยเครื่องมือ ผ่านเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ CPAP เพื่อค้ำการหย่อนของกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือใส่เครื่อง Oral Appliance ในช่องปากเพื่อปรับขากรรไกรช่วยให้ทางเดินหายใจมีพื้นที่มากขึ้น

รักษาผ่านการผ่าตัด การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะทำได้ก็ต่อเมื่อผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัดคือทำให้ระบบทางเดินหายใจมีพื้นที่กว้างขึ้น หรือลดการหย่อนลง เช่น การผ่าตัดจมูก การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน หรือการผ่าบริเวณคอหอย เป็นต้น

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส