เทศบาลไม่จัดสรรงบอาหารกลางวันนักเรียน ครูต้องลงขันจ่ายให้คู่สัญญาก่อน

22 พ.ค. 66

เทศบาลฯไม่จัดสรรงบ อาหารกลางวันนักเรียน ทำ ผอ.-ครูต้องลงขันจ่ายให้กับคู่สัญญา ป.ป.ช.ตั้งข้อสังเกต เตรียมตรวจสอบอย่างละเอียด

เมื่อเวลา 10.45 น. วันนี้ 22 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ และจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง เครือข่ายภาคประชาชน ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งสังกัด สพป.ตรัง เขต 2 สอนในระดับชั้นอนุบาล ถึง ม.3

ซึ่งในระหว่างการเข้าตรวจสอบอยู่ในระหว่างนักเรียนรับประทานอาหารเที่ยงอยู่ วันนี้มีอาหารคือ ต้มไก่ แกงไตปลา ผัดผักกะหล่ำปลี และผลไม้คือฝรั่ง ซึ่งอาหารดังกล่าวนักเรียนทุกระดับชั้นกินเหมือนกันหมด ซึ่งคุณภาพอาหารพอกินครบทุกคน โดยที่โรงเรียนดังกล่าวได้รับงบประมาณโครงการอาหารกลางวันจาก เทศบาล ต.นาเมืองเพชร ในราคานักเรียนหัวละ 22 บาท 

จากการตรวจสอบพบว่ามีแม่ครัวเป็นผู้ทำอาหารในโรงเรียน จากการสอบถามแม่ครัว ระบุว่า เป็นผู้ไปจัดซื้ออาหารมาปรุงในโรงเรียนฯเอง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยนำงบประมาณไปจ้างแม่ครัวซื้อวัตถุดิบ และมาปรุงให้กับนักเรียน ขณะเดียวกันสอบถามผู้บริหารและคณะครู ว่าทางโรงเรียนดำเนินการในลักษณะแบบไหน โดยทางโรงเรียนแจ้งว่าไม่รู้ และอ้างว่าไม่มีเอกสารโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งได้ส่งให้เทศบาลฯ ไปหมดแล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่ไปติดตามกับทางเทศบาลฯเอง 

และอีกหนึ่งประเด็น คือ ตั้งแต่เปิดเทรมมาทางเทศบาล ต.นาเมืองเพชร ยังคงไม่มีการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณโครงการอาหารกลางวันมาให้กับทางโรงเรียน ทำให้ไม่มีเงินไปจ่ายให้กับคู่สัญญา ทำให้ทางผู้บริการสถานศึกษาและคณะครูต้องช่วยกันรวบรวมเงินลงขันจ่ายให้กับคู่สัญญาไปก่อน โดยที่ทางโรงเรียนแจ้งว่าได้ส่งไปให้เทศบาลฯตั้งแต่ช่วงก่อนปิดเทรมแล้ว โดยที่ทางโรงเรียนปฏิเสทการให้สัมภาษณ์

นายยุทธนา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครูว่าทางโรงเรียนยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ทาง ผอ.โรงเรียน และคุณครูต้องช่วยกันแชร์เงินกันเพื่อให้ได้มีการเบิกจ่ายให้กับคู่สัญญาในการจัดทำโครงการอาหารกลางวันเป็นเงินจำนวน 30,000 กว่าบาท ส่วนการจัดทำโครงการอาหารกลางวันก็ได้มีข้อสังเกตในเรื่องของคุณภาพของอาหาร เช่นบางเมนูที่ทำมาน้องๆหนูๆนักเรียนไม่ชอบทาน เช่นผัดกะหล่ำปลี ฟักต่างๆ ทำให้ต้องมีการเททิ้ง เป็นที่น่าเสียดาย ก็พยายามให้ทางโรงเรียนปรับปรุงเมนูให้สอดคล้องกับ การบริโภคหรือการรับประทานของนักเรียน ซึ่งหากเป็นไปตามหลักโภชนาการก็สามารถจะเกิดทั้งในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณ

นายยุทธนา กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ก็จะไปขอเอกสารหลักฐานจากทางเทศบาล ต.นาเมืองเพชร ว่าในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามวิธีการระเบียบหรือกฏหมายกำหนดมาหรือเปล่าว่าใช้วิธีการแบบไหน ในการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องกำชับให้ระมัดระวังในเรื่องของการใช้นอมินีหรือยื่มชื่อผู้อื่นมาเป็นคู่สัญญา  แต่ใช้วิธีการในการไปซื้อวัตถุดิบต่างๆมาดำเนินการเองตรงนี้ก็ต้องกำชับ ต้องเฝ้าระวังในตัวโครงการอาหารกลางวันแห่งนี้

ขณะที่นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า เท่าที่ลงไปตรวจสอบแบบที่ทางโรงเรียนไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้าเราก็พบว่าอาหารกลางวันที่ทางโรงเรียนจัดให้เด็กนักเรียนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างจะดี คือมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งในส่วนของโปรตีน ในส่วนของผัก และในส่วนของผลไม้ ที่ให้เด็กรับประทานทั้งในเด็กระดับชั้นอนุบาลก็ถือว่าครบถ้วนดี แต่ประเด็นปัญหาของทางโรงเรียน ลักษณะของการทำการจ้างผู้มาทำอาหาร ที่ยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมจากทางโรงเรียน ที่จะต้องนำมาตรวจสอบกันอีกครั้ง ว่าโรงเรียนใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบไหนกันแน่ เพราะเท่าที่สังเกตและขอข้อมูลยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่าจะทำถูกต้องตามระเบียบที่ทาง สพฐ. กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งก็จะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ เพื่อให้โรงเรียนทำให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งเฝ้าระวังในเรื่องคุณภาพและปริมาณของอาหารที่นักเรียนจะได้รับในอนาคต

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส