สิ้น "ทองร่วง เอมโอษฐ" ศิลปินแห่งชาติ ครูช่างปูนปั้นชื่อดังเพชรบุรี

13 เม.ย. 66

สิ้น "ทองร่วง เอมโอษฐ" ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ครูช่างปูนปั้นชื่อดังจังหวัดเพชรบุรี จากไปอย่างสงบในวัย 80 ปี

วันที่ 13 เมษายน 2566 เมื่อเวลา 00.15 น. รับแจ้งจากช่างธานินทร์  ชื่นใจ ช่างลายรดน้ำว่า อาจารย์ทองร่วง  เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ ได้เสียชีวิตลงที่บ้านพักในตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ศิลปะปูนปั้นเมืองเพชร บ้านศิลปินแห่งชาติ โดยเบื้องต้นทราบว่า ช่วงหัวค่ำอาจารย์ทองร่วมรับการรักษาตัวอยู่ที่ไอซียู โรงพยาบาลเพชรรัตน์ แต่เจ้าตัวได้ร้องขอกับภรรยาว่าให้พากลับบ้าน เพราะเชื่อว่าตัวเองคงอยู่ได้อีกไม่นาน ทางครอบครัวจึงได้พาอาจารย์กลับไปยังบ้านพัก และได้สิ้นลมเมื่อเวลา 00.15 น.นับเป็นความสูญเสียศิลปินแห่งชาติที่มีประวัติและผลงานอันเลื่องชื่อของจังหวัดเพชรบุรีไปอีกราย

 ศิลปินแห่งชาติ

นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น)

เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยมและจินตนาการอันบรรเจิดที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตําปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดในจังหวัดเพชรบุรีและต่างจังหวัดมากมาย เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดโคก และวัดเขาบันไดอิฐ ทั้งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานมีทั้งประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย อย่างสวยงาม และประเภทแนวสร้างสรรค์สังคมโดยการปั้นรูปล้อเลียนบุคคลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย

ศิลปินแห่งชาติ

นอกจากนี้ผลงานปั้นยังสอดแทรกคติธรรม ข้อคิดต่าง ๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดและสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้น ๆ และยังก่อให้เกิดอรรถรสในการชมงานศิลปะปูนปั้น ทําให้ดูมีชีวิตชีวา ให้ความรู้สึกถึงความจริงแห่งวิถีในสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมไทย

ศิลปินแห่งชาติ

ทั้งยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรพิเศษสอนศิลปะปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะปูนปั้นต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจวิชาศิลปะปูนปั้นได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้กับสังคม ดําเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยต่อไป นายทองร่วง เอมโอษฐ์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(ประณีตศิลป์–ศิลปะปูนปั้น) พุทธศักราช 2554

 ศิลปินแห่งชาติ

ประวัตินายทองร่วง เอมโอษฐ์

นายทองร่วง เอมโอษฐ  เกิดเมื่อวันที่ 8 แพฤศจิกายน พุทธศักราช 2486 ที่ตําบลบางกระบือ อําเภอบางคนทีจังหวัดสมุทรสงครามเป็นบุตรคนที่ 2 ในจํานวนพี่น้อง 4 คน ของนายยศ เอมโอษฐ และนางสําลี เอมโอษฐ สมรสกับนางบุญเรือน เอมโอษฐ มีบุตร 2 คน

ประวัติการศึกษา

จบนักธรรมชั้นเอก จากวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ปริญญากิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติการทํางานและผลงานรางวัลที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2504 เริ่มทํางานปูนปั้น-ปัจจุบัน โดยปั้นงานให้กับวังและวัดต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรีและในต่างจังหวัด
  • พ.ศ. 2522 ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรในฐานะผู้เชี่ยวชาญพุทธศิลป์สถาปัตยกรรมและประติมากรรมไทย ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเตรียมการฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์
  • พ.ศ.2528    รับมอบเกียรติบัตรการปฏิบัติงานกับโครงการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและปูชนียสถานวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนายสนั่น สมฟื้น ผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการพิเศษช่างสิบหมู่
  • พ.ศ. 2528    ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคกลางจากสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)
  • พ.ศ. 2528    รับเกียรติบัตรในการร่วมงานซ่อมเครื่องประกอบพระเมรุเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
  • พ.ศ. 2532    เข้ารับพระราชทานเข็มสิรินธร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ.2535    ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ของ สถาบันราชภัฏเพชรบุรี (สาขาศิลปศาสตร) จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
  • พ.ศ. 2542    รับเกียรติบัตรจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เนื่องจากทําคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาในด้านส่งเสริมวิชาชีพ
  • พ.ศ. 2542    เข้ารับรางวัลพระราชทานเสมาธรรมจักร (สาขาส่งเสริมวิชาชีพ)จากพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์
  • พ.ศ.2547    ได้รับโล่"บุคคลดีเด่น 47” จากโรงเรียนอรุณประดิษฐ์จังหวัดเพชรบุรี
  • พ.ศ. 2549    ได้รับมอบเกียรติบัตรจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟเพชรบุรีเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมการศึกษาของโรงเรียนฯ
  • พ.ศ. 2549    เข้ารับรางวัลพระราชทานรางวัลบุคคลดีเด่น "ด้านการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น”ประจําปีพ.ศ. 2549 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
  • พ.ศ.2549 เข้ารับรางวัลพระราชทานรางวัล "ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะ(การช่างฝีมือ)” ประจําปีพ.ศ. 2549 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส