เริ่มใช้แล้ว! ธนบัตร พอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท พร้อม 17 คำถาม-คำตอบ ที่ควรรู้

25 มี.ค. 65

เริ่มใช้แล้ว ธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท มีคุณลักษณะแบบไหน สังเกตได้อย่างไร พร้อม 17 คำถาม-คำตอบ ที่ควรรู้

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย และมีมาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษ และมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัยและมีมาตรฐานขั้นสูงเช่นเดียวกับธนบัตรกระดาษ ชนิดราคา 20 บาท รวมถึงมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเพิ่มเติม

foqr1h0vqaazwdp

​1. ทำไมถึงต้องเปลี่ยนวัสดุเป็นพอลิเมอร์

ธนบัตรที่ผลิตด้วยกระดาษ ด้วยเฉพาะชนิดที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือสูง สกปรกง่าย มีอายุใช้งานสั้นเพียง 2 ปี และเก่าเร็ว โดยการเปลี่ยนวัสดุที่ผลิตโดยพอลิเมอร์ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีคุณสมบัติทนทาน สะอาด และสามารถทำความสะอาดได้ง่าย

​2. ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบกระดาษ ยังคงใช้ได้หรือไม่

ธนบัตรแบบที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน ยังคงสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติต่อไป

​3. ถ้าต้องการธนบัตรพอลิเมอร์ ชนิดราคา 20 บาท สามารถแลกได้เมื่อไหร่และที่ใดบ้าง

สามารถแลกได้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ธนาคารทั่วประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง

4. ​มีการจำกัดปริมาณการแลกเปลี่ยนธนบัตรกระดาษ เป็นพอลิเมอร์ หรือ ถอนเงินเป็นธนบัตรพอลิเมอร์ หรือไม่

ประชาชนสามารถทยอยแลกธนบัตรพอลิเมอร์ได้ เนื่องจากธนบัตรแบบใหม่นี้จะใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนและจัดพิมพ์ในปริมาณที่เพียงพออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณธนบัตรพอลิเมอร์ที่แต่ละสาขาของสถาบันการเงินที่มีอยู่ในขณะนั้น

5. ​ธนบัตรพอลิเมอร์มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังครบถ้วน 100% หรือไม่

การนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเต็มจำนวนทุกฉบับ

bank1_1

​6. ปัจจุบันมีประเทศใดใช้ธนบัตรพอลิเมอร์บ้าง

ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศ ที่ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ในหลายชนิดราคา เช่น แคนาดา ชิลี ซาอุดิอาระเบีย สก็อตแลนด์ และอังกฤษ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น

7. ธนบัตรพอลิเมอร์มีความแตกต่างจากธนบัตรกระดาษอย่างไร ในเชิงผู้ใช้งาน

ธนบัตรพอลิเมอร์มีลักษณะและรูปลักษณ์โดยรวม ไม่แตกต่างจากธนบัตรกระดาษ แต่เนื้อสัมผัสแตกต่างจากกระดาษและพลาสติกทั่วไป

8. ธนบัตรพอลิเมอร์มีลักษณะเด่นที่ช่วยในการต่อต้านการปลอมแปลงอย่างไร

ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเหมือนธนบัตรชนิดกระดาษปัจจุบัน

มีช่องใส เป็นจุดสังเกตที่สามารถมองทะลุได้ทั้งสองด้าน มีสีเหลือบแดงเมื่อพลิกเอียงธนบัตร และมีลายดุนนูนตัวเลข 20 ที่มีความนูน

9. ธนบัตรพอลิเมอร์แบบใหม่ จะดีกว่าธนบัตรพอลิเมอร์แบบเดิมที่เคยออกใช้อย่างไร (หมึกหลุดร่อน หดตัว โดนความร้อนไม่ได้ ละลาย พับแล้วสีลอกเป็นรอยพับ ยับย่นง่าย)

ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิต วัสดุการพิมพ์ และหมึกพิมพ์ ทำให้ธนบัตรพอลิเมอร์มีความทนทานต่อสภาพการใช้งานต่าง ๆ ทนความร้อนได้ดี มากกว่าแบบเดิม

10. ​ธปท. มีข้อแนะนำในการใช้งานธนบัตรอย่างไรบ้าง เพื่อให้ธนบัตรมีสภาพดีน่าใช้ตามที่ ธปท. คาดหวัง รวมถึง ข้อกังวลว่าธนบัตรจะใช้งานยาก ธนบัตรใหม่มากอาจติดกัน ทำให้ทอนผิด

ขอแนะนำ ไม่ให้เย็บด้วยลวดเย็บกระดาษ พับหรือกรีดธนบัตร เพื่อให้ธนบัตรมีสภาพดี สำหรับข้อกังวลเรื่องอาจเกิดปัญหาธนบัตรติดกัน แนะนำให้บิดหรือดัดเบา ๆ จะช่วยลดปัญหาการติดกันของธนบัตรใหม่ได้

1648176474348

11. สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศได้หรือไม่

แลกเปลี่ยนได้เช่นเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนชนิดราคาอื่น (เคาน์เตอร์ Exchange ในประเทศ)

 

​12. ธนบัตรพอลิเมอร์ใช้กับเครื่องรับเงินอัตโนมัติได้ไหม เช่น ตู้ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า ตู้ซื้อสินค้า

ธปท. ได้แจ้งหน่วยงานที่ดูแลเครื่องรับเงินดังกล่าวให้ทราบล่วงหน้า และได้ประสานงานกันเพื่อเตรียมการรองรับให้ประชาชนสามารถใช้ธนบัตรแบบใหม่ได้อย่างกว้างขวาง

​13. ผู้บกพร่องทางสายตาจะสังเกตธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท อย่างไร

ธนบัตรทั้งสองแบบมีความต่างกัน และลายดุนนูนเป็นตัวเลข 20 จะเป็นจุดสังเกตที่จะแนะนำให้แก่ผู้บกพร่องทางสายตา สำหรับการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ในครั้งนี้ ธปท. จะประสานงานสมาคมคนตาบอดฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ เพื่อสื่อสารและจัดกิจกรรมให้ผู้บกพร่องทางสายตา ได้รับทราบข้อมูลก่อนการออกใช้

1648176514731

14. ธปท. มีการควบคุมมลพิษอย่างไรในการทำลายธนบัตรพอลิเมอร์

​ธปท. จะเผาทำลายภายใต้การควบคุมและบำบัดอากาศเสียก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโดยโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล

15. ธนบัตรพอลิเมอร์สามารถนำไป recycle ได้หรือไม่

​ธนบัตรพอลิเมอร์ทำจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ชนิด BOPP (Bi-Oreinted Polypropylene) ซึ่งสามารถนำไป recycle ได้

16. ทำไม ธปท. จึงออกธนบัตรแบบใหม่ในขณะที่มีนโยบายส่งเสริม e-Payment

ธปท. มีนโยบายสนับสนุน e-Payment แต่สำหรับประชาชนบางกลุ่มที่ยังจำเป็นต้องชำระเงินในรูปแบบธนบัตร ธปท. จึงต้องพัฒนากระบวนผลิตต่อไป เช่น การเลือกใช้วัสดุที่มีความทนทานมากขึ้นและสิ้นเปลืองน้อยลง

​17. ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบกระดาษ ที่หมุนเวียนในระบบมีอายุการใช้งานเท่าไร

ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ที่ผลิตด้วยกระดาษมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี แต่ในความเป็นจริงพบว่ามีอายุเฉลี่ยประมาณ 3 ปี เนื่องจากไม่ค่อยถูกนำกลับมาทำลาย ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท ผลิตด้วยพอลิเมอร์ มีอายุการใข้งานประมาณ 5 - 7.5 ปี

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม