ย้อน โครงการรัฐ 2564 แจกเยียวยาหลายแสนล้าน ยื้อชีวิต กระตุ้นเศรษฐกิจไปต่อ

26 ธ.ค. 64

เงินสะพัด โครงการรัฐ 2564 แจกเยียวยาหลายแสนล้าน ยื้อชีวิตประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจไปต่อ

ปีนี้ 2564 นับเป็นปีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงต้นปีกับการเจอการระบาดคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง สมุทรสาคร จนสถานการณ์เริ่มดีขึ้นหลายฝ่ายต่างตั้งความหวังว่าจะกลับมาใช้ชีวิต กลับมาหารายได้เลี้ยงตัวอย่างคึกคัก แต่ต้องฝันสลาย เมื่อเจอการระบาดระลอกรุนแรงที่สุดกับเข้ามาของสายพันธุ์เดลตาในช่วงเดือนเมษายน ทำให้การดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจต้องสะดุดไปอีกครั้ง

โดยตลอดทั้งปี รัฐบาลก็ได้พยายามเข็นหลากหลายมาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินรวมหลายแสนล้านบาท หลายโครงการก็เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีก่อน หลายโครงการก็มาใหม่แกะกล่องในปีนี้ อมรินทร์ทีวีออนไลน์ เลยจะพาไปย้อนดูกันว่า ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา เราผ่านโครงการอะไรของรัฐกันมาบ้าง? 

1.คนละครึ่ง เฟส 3 โครงการขวัญใจประชาชน 

คนละครึ่ง เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่มีการตอบรับดีที่สุดจากประชาชน โดยผลสำรวจจาก ซูเปอร์โพล เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.64 พบเป็นโครงการรัฐที่ประชาชนพอใจที่สุดกว่า 50.4% โดย "คนละครึ่ง" มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การอุปโภคบริโภคของประชาชนและผู้ค้ารายย่อย ซึ่งรัฐออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง และประชาชนออกเองครึ่งหนึ่ง ผ่านรูปแบบวงเงินในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน

โครงการคนละครึ่ง มีขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค.63 โดยเปิดให้ลงทะเบียนจำนวน 10 ล้านสิทธิ วงเงิน 3,000 บาท ใช้จ่ายได้ถึง ธ.ค.63 และต่อเฟส 2 ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.64 โดยเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ 5 ล้านสิทธิ ได้วงเงิน 3,500 บาท ขณะที่ผู้ได้สิทธิเฟส 1 จะได้รับวงเงินเพิ่ม 500 บาท ใช้จ่ายในช่วง ม.ค.- มี.ค.64 โดยในครั้งนี้เกิดดราม่า เมื่อเครือข่ายดีแทคล่ม ทำให้ผู้ใช้งานไม่ได้รับรหัส OTP และไม่สามารถลงทะเบียนได้ต้องชวดสิทธิไปโดยปริยาย ซึ่งดีแทคต้องรีบออกมาขอโทษและหามาตรการเยียวยายกใหญ่

จากนั้นหลัง เมษายน 64 ซึ่งไทยพบกับการระบาดโควิด-19 ระลอกที่รุนแรงที่สุด ครม.ก็ได้เคาะ คนละครึ่ง เฟส 3 ต่อ โดยในคราวนี้เปิดให้ลงทะเบียนกว่า 28 ล้านสิทธิ วงเงินคนละ 3,000 บาท เปิดลงทะเบียนในเดือนมิถุนายน ใช้จ่ายได้ถึง 31 ธันวาคม 64 และต่อมาได้อนุมัติวงเงินเพิ่มอีก 1,500 บาท โอนเข้าในวันที่ 1 ฤศจิกายน รวมทั้งโครงการเป็น 4,500 บาท แต่ไม่ได้มีการขยายเวลาใช้จ่ายออกไป

โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ รวม 1.35 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 93,000 ล้านบาท ในช่วงแรกและ 42,000 ล้านบาทในช่วงเพิ่มวงเงิน ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 23 ธ.ค.64 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.33 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27.98 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 213,251.4 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 108,460 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 104,791.4 ล้านบาท  มียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 84,784.6 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 34,196.3 ล้านบาท ร้าน OTOP 10,231.7 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 80,093.7 ล้านบาท ร้านบริการ 3,693 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 252.1 ล้านบาท

ทั้งนี้แม้ประชาชนจะเรียนร้องให้มีการยืดโครงการไปอีก เพราะหลายคนยังใช้วงเงินไม่หมด แต่คลังยืนยันว่าโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 จะสิ้นสุดใน 31 ธ.ค.64 นี้ แต่ข่าวดีคือประกาศ คนละครึ่ง เฟส 4 ในเดือน มี.ค.-เม.ย.65 ขอให้ทุกคนรอติดตามรายละเอียดกันต่อไป

000_9947uf

2.เราชนะ แจกวงเงิน 9,000 บาท 

หลังจากการระบาดโควิด-19 ระลอกคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง สมุทรสาคร รัฐบาลได้ออกโครงการ "เราชนะ" ตั้งเป้าเยียวยาประชาชาชน ลดค่าครองชีพ และเพิ่มกำลังซื้อ โดยแจกวงเงินคนละ 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.64) รวม 7,000 บาทต่อคน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 31.1 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.กลุ่มผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐมาก่อน มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และ 3.กลุ่มผู้ลงทะเบียนใหม่ ที่ www.เราชนะ.com

รูปแบบของ "เราชนะ" เป็นการมอบวงเงินผ่านแอปฯ "เป๋าตัง" ให้ใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่ร่วมรายการ โดยใช้ได้เต็มวงเงินแต่ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ โดยรัฐโอนให้สัปดาห์ละ 1,000 บาทจนครบ ใช้จ่ายได้ถึง 31 พ.ค. แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้ประกันตน ม.33 ข้าราชการ พนักงานในหน่วยงานรัฐ ไม่เป็นผู้รับบำนาญ และมีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาทในปีภาษี 2562 และไม่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท

อย่างไรก็ดีโครงการนี้เกิดดราม่าตามมาหลายอย่าง เช่น การใช้ภาษีปี 2562 มาคิด ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่มีโรคระบาด หลายๆ คนมีเงินได้เกินที่กำหนดเพราะยังมีงานทำ แต่พอเจอโรคระบาดทำให้ตกงานขาดรายได้และพลาดรับเงินเยียวยาไป ซึ่งคลังได้แก้ปัญหาโดยการเปิดให้ยื่นทบทวนสิทธิ และให้ยื่นภาษีของปี 2563 แทน หรือปัญหาว่าหากไม่มีสมาร์ทโฟนจะลงทะเบียนและใช้จ่ายอย่างไร? ซึ่งรัฐได้แก้ปัญหาโดยการเปิดลงทะเบียนที่ธนาคารกรุงไทย และจุดบริการอื่นๆ โดยจะให้วงเงินผ่านบัตรประชาชน และหากยังจำกันได้ ภาพข่าวในช่วงนั้นพบว่ามีประชาชนแห่ไปลงทะเบียนที่ธนาคารกันจนล้นออกมา

ต่อมาหลังครบระยะเวลาการใช้เงิน ประจวบกับการระบาดระลอกใหญ่เมื่อเดือน เมษายน ครม.ได้มีมติเพิ่มวงเงิน "เราชนะ" อีก 2,000 บาท รวมเป็น 9,000 บาท/คนตลอดโครงการ โดยแบ่งจ่าย 2 งวด งวดละ 1,000 บาทในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ใช้ได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

เมื่อสรุปข้อมูลทั้งโครงการ "เราชนะ" ดำเนินการใต้กรอบวงเงิน 2.73 แสนล้านบาท เมื่อสิ้นสุดโครงการมีประชาชนผู้รับสิทธิรวม 33.2 ล้านคน เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งสิ้น 273,475 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านสิทธิ 101,301 ล้านบาท กลุ่มผู้ที่มีแอปฯ เป๋าตัง และผู้ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการเราชนะ 17.1 ล้านบาท 151,344 ล้านบาท และกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 2.4 ล้านคน 20,830 ล้านบาท  

ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ให้บริการรายย่อย ได้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.3 ล้านกิจการ โดยมียอดการใช่จ่ายผ่านร้านอาหารและเครื่องดื่ม 52,948 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 93,182 ล้านบาท ร้านโอทอป 11,371 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 110,501 ล้านบาท ร้านค้าบริการ 5,293 ล้านบาท และขนส่งสาธารณะ 180 ล้านบาท

1614904122384

3.เยียวยาประกันสังคม ได้เงินสด ไม่ต้องลงทะเบียน 

ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ถือเป็นอีกกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการระบาดของโควิด-19 โดยในปีนี้ก็ได้มีโครงการเยียวยาผู้ประกันตนหลายระลอกด้วยกัน เริ่มที่ "ม.33 เรารักกัน" ในเดือน ม.ค.ครอบคลุมผู้ประกันตน ม.33 ซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยาจากโครงการ “เราชนะ” โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีรูปแบบการใช้จ่ายคล้ายกันคือรัฐให้เป็นวงเงิน ผ่านแอปฯ "เป๋าตัง" จำนวน 4,000 บาท แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย. 64 ใช้จ่ายได้ถึง 31 พ.ค.64 

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ครม.ได้อนุมัติเพิ่มวงเงินเยียวยาให้ผู้ที่เคยใช้สิทธิทั้งหมดอีก 2,000 บาท แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท ต้องใช้จ่ายภายในวันที่ 30 มิ.ย.64 รวมเป็นเงินทั้งโครงการ 6,000 บาท โดยสถิติ ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 มีผู้ประกันตนเข้าร่วมโครงการ 8.14 ล้านคน ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 247,899 ร้านค้า และมียอดการใช้จ่ายเงินทั้งสิ้น 48,185,847,179.56 บาท

จากนั้นในเดือน ก.ค.64 จากการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ ครม.มีมติเห็นชอบเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 ใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ก่อนเพิ่มเป็น 13 จังหวัด เยียวยา 9 ประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนแต่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมต้องรีบสมัครลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อรับเงินเยียวยาครั้งนี้ 

โดย ม.33 ได้รับเงินเยียวยา 1 เดือน (ส.ค.64) จำนวน 2,500 บาท ขณะที่ ม.39 และ 40 ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท รับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนโดยไม่ลงทะเบียนในเว็บไซต์เหมือนโครงการอื่นๆ 

จากนั้นในเดือน ก.ย.64 ได้มีมติขยายเงินเยียวยาเพิ่มอีก 1 เดือน และเพิ่มพื้นที่เยียวยา ม.40 อีก 16 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมเป็น 29 จังหวัด กล่าวโดยสรุปคือ 13 จังหวัดสีแดงเข้มได้เยียวยา 2 เดือน ขณะที่อีก 16 จังหวัดสีแดงเข้มที่ประกาศภายหลัง ได้เยียวยา 1 เดือน โดยดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินทั้งโครงการ 77,785 ล้านบาท แบ่งเป็นการอนุมัติรอบแรก 33,471 ล้านบาท และรอบหลัง 44,314 ล้านบาท 

ล่าสุดในเดือน ธ.ค.64 นี้ ครม.ได้เห็นชอบ เยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 อาชีพอิสระในสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถทำงานได้มาอย่างยาวนาน จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน เริ่มโอน 29 ธ.ค.64 โดยใครที่ยังไม่อยู่ในระบบขอให้รีบสมัคร ม.40 และจ่ายเงินสมทบภายใน 14 ม.ค.65 เพื่อรับเงินเยียวยา

000_9848hu

 

4.ยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ไม่ค่อยมีคนใช้ ปรับเงื่อนไขจูงใจหลายรอบก็ยังไม่ปัง

"ยิ่งใช้ยิ่งได้" เป็นโครงการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เปิดลงทะเบียนเมื่อ มิ.ย.64 ที่ผ่านมา โดยให้เติมเงินซื้อของในร้านที่ร่วมรายการผ่าน G-Wallet ในแอปฯ "เป๋าตัง" และรัฐจะสนับสนุนเงินคืนในรูปแบบบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ในต้นเดือนถัดไปแต่ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ โดยใช้จ่ายได้สูงสุด 5,000 บาท/คน/วัน จำกัดวงเงินใช้จ่ายจริงทั้งโครงการไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน เมื่อนำยอดจ่ายจริงมาคำนวณสิทธิแล้ว จะได้เงินคืนสะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท ใช้จ่ายในช่วง 1 ก.ค.-30 ก.ย.64

อย่างไรก็ดีโครงนี้ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไหร่นัก โดยในเดือน ก.ค.64 พบว่า จากจำนวนสิทธิทั้งหมด 4 ล้านสิทธิ มีผู้ลงทะเบียนเพียง 4.5 แสนคนเท่านั้น จึงได้ลดกลุ่มเป้าหมายเหลือ 1.4 ล้านสิทธิ และจูงใจมากขึ้นด้วยการเพิ่มใช้จ่ายสูงสุดเป็น 10,000 บาท/คน/วัน และขยายเวลาใช้จ่ายถึง 30 พ.ย. แต่ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้คนร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดรัฐบาลจึงได้เพิ่มวงเงินใช้จ่ายอีกครั้ง เป็น 80,000 บาท และเพิ่ม e-Voucher เป็น 10,000 บาท ขยายเวลาใช้จ่ายถึง 31 ธ.ค.64

เมื่อสรุปข้อมูลทั้งโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ดำเนินการใต้กรอบวงเงิน 9.8 พันล้านบาท ลดลงจาก 28,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้ในคราวแรก ข้อมูลล่าสุด ณ 23 ธ.ค.64 มีประชาชนผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวนกว่า 4.9 แสนราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชนรวม 3,808.7 ล้านบาท

มีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 3,064 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 353.8 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายสะสมส่วน e-Voucher 312.2 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมรวมส่วนประชาชนและ e-Voucher แบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 193.6 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 212.8 ล้านบาท ร้าน OTOP 437.9 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 3,131.9 ล้านบาท และร้านบริการ 144.7 ล้านบาท 

 

000_1tn5fv

5.โครงการเพิ่มกำลังซื้อ บัตรคนจน-กลุ่มเปราะบาง แจกเดือนละนิดแต่ยาวนาน 

โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน มีขึ้นครั้งแรกในปี 2563 รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มกำลังซื้อในกลุ่มผู้ถือบัตรคนจน ราว 14 ล้านคน ด้วยการเพิ่มวงเงินเดือนละ 500 บาท/คน นาน 3 เดือนช่วง ต.ค.-ธ.ค.63 สำหรับซื้อของในร้านธงฟ้าหรือร้านที่ร่วมรายการ 

ต่อมาภายหลังการระบาดโควิด-19 ระลอกคลัสเตอร์ตลาดกุ้ง สมุทรสาคร รัฐบาลขยายโครงการต่อใน ระยะที่ 2 เพิ่มวงเงินเดือนละ 500 บาท ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.64

หลังสิ้นสุดโครงการระยะที่ 2 ประจวบกับที่ไทยพบการระบาดระลอกใหญ่ 1 เม.ย. จึงได้มีการต่อโครงการนี้อีกครั้ง ในระยะที่ 3 ในคราวนี้ครอบคลุม 2 กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 14 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มต้องการความเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กเล็ก,ผู้สูงอายุ,ผู้พิการ ใช้สิทธิผ่านบัตรประชาชน 2.5 ล้านคน เพิ่มวงเงินเป็นเวลา 6 เดือน แบ่งเป็น เดือนละ 200 บาท/คน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.64  และเดือนละ 500 บาท/คน ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.64

เมื่อสรุปข้อมูลทั้งโครงการ “เพิ่มกำลังซื้อ ระที่ 3" ดำเนินการใต้กรอบวงเงิน 1.93 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 16,380 ล้านบาท และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 3,000 ล้านบาท ข้อมูลล่าสุด วันที่ 14 ธ.ค.64 พบว่า โครงการเพิ่มกำลังซื้อ ในกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้สิทธิสะสม 13.55 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 23,359.4 ล้านบาท และในกลุ่มเปราะบาง มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.49 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,086.9 ล้านบาท

1616119892409

6.เราเที่ยวด้วยกัน ฝ่าปัญหาทุจริตสู่เฟส 3 เตรียมเข้าเฟส 4 

“เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นโครงการที่มีขึ้นเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดนักท่องเที่ยวในช่วงโควิด-19 โดยรูปแบบคือ ประชาชนที่ใช้สิทธิจองโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับส่วนลด 40% ไม่เกิน 3,000 บาท/ ห้อง/คืน หลังเช็กอินจะได้รับคูปองส่วนลดอาหาร และท่องเที่ยว 600 บาท/วัน เพื่อใช้จ่ายในร้านที่ร่วมโครงการ และสามารถรับสิทธิคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินได้อีก 40% สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท ต่อที่นั่ง ซึ่งได้ดำเนินการเฟส 1-2 ไปแล้วในปี 2563 มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตามโครงการนี้พบปัญหาทุจริตจำนวนมาก โดยที่พักหรือร้านค้าได้กว้านซื้อสิทธิจากประชาชน ให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ก่อนใช้สิทธิจองห้องพักราคาสูงเพื่อเอาส่วนต่างแต่ไม่มีการเข้าพักจริง หรือนำคูปองส่วนลดค่าอาหารและบริการมาใช้จ่ายในร้านค้าแต่ไม่มีการซื้อขายจริงเกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสืบสวนและได้ดำเนินคดีไปแล้วหลายราย   

ในปี 2564 นี้ รัฐบาลได้มีการต่อโครงการระยะที่ 3 เปิดลงทะเบียนรวม 2 ล้านสิทธิ เงื่อนไขเป็นไปตามเฟส 1 และ 2 โดยผู้เคยได้สิทธิแล้วไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ แต่ครั้งนี้จะมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตซ้ำรอยเฟสก่อนๆ โดย ททท.จะร่วมกับตำรวจท่องเที่ยวสุ่มตรวจตามโรงแรม หรือร้านค้าที่ใช้บริการ รวมทั้งป้องกันการสวมสิทธิด้วยระบบสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้สิทธิด้วย 

เมื่อสรุปข้อมูลทั้งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ดำเนินการเฟส 1-3 ภายใต้กรอบวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเฟส 3 ใช้วงเงิน 5.7 พันล้าน ข้อมูล ณ วันที่ 14 ธ.ค.64 มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิครบ 2 ล้านคน มูลค่าการใช้จ่ายทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 8,055.4 ล้านบาท มีจำนวนคนใช้สิทธิโรงแรม 363,449 ราย มูลค่าการใช้จ่ายโรงแรม 7009.5 ล้าน ยอดใช้จ่ายคูปองสะสม 913.3 ล้านบาท และมูลค่าตั๋วเครื่องบินทั้งสิ้น 132.69 ล้านบาท 

และล่าสุด 21 ธ.ค.64 ครม.เคาะต่อโครงการระยะที่ 4 ขยายเวลาการใช้สิทธิจากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.65 เป็น 30 เม.ย.65 และเพิ่มจำนวนห้องพักโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีก 2 ล้านห้อง โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ททท.ได้ขออนุมัติงบเพื่อใช้ในโครงการนี้ที่ 13,200 ล้านบาท 

000_1r754i

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส