“รถรั่ว” ในช่วงฝนหลงฤดู น้ำฝนลอดเข้ามาในรถ จากรถอาจกลายเป็นตู้ปลา!

8 พ.ค. 67

เนื่องจากในช่วงนี้ ฝนตก และตกติดต่อกัน เลยเป็นเหตุให้นึกขึ้นได้ว่า “รถรั่ว” ในช่วงฝนตกนี้ ก็เป็นปัญหา ยิ่งบางคนเจอปัญหาหนัก เพราะที่จอดรถไม่มีหลังคากันฝน ต้องจอดตากฝนทั้งคืน พอหลายวันเข้า น้ำฝนก็สามารถเล็ดลอดสอดเข้ามาในรถได้ จากรถยนต์ก็เลยกำลังจะกลายเป็นตู้ปลาไปซะแล้ว! เลยอยากจะนำเรื่องฝนรั่ว หรือเรียกง่ายๆ น้ำรั่วเข้ามาในรถยนต์ มาบอกเล่ากัน

เรื่องน้ำฝน หรือน้ำล้างรถ สามารถเล็ดลอดเข้ามาในรถได้นั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับรถที่ใช้งานมานาน ระดับ 7 ปีขึ้นไป ปัญหาใหญ่เกิดจากพวกซีลยางตามขอบประตูเริ่มเสื่อมคุณภาพ ซีลยางพวกนี้จะติดประกบอยู่กับตัวรถ อย่างเช่น ประตู และฝากระโปรงท้าย ซึ่งหน้าที่หลักของซีลยางพวกนี้ ก็คือ ป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามาในตัวรถ และช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาภายในตัวรถ

เมื่อซีลยางขอบประตูพวกนี้เสื่อม สังเกตได้ไม่ยาก เริ่มจากเวลาล้างรถมักจะมีน้ำซึมเข้ามาภายในห้องโดยสาร หรือเวลาที่รถวิ่งด้วยความเร็ว จะมีเสียงลมลอดเข้ามาในห้องโดยสารดังกว่าที่เคยเป็นและมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาจจะมีกลิ่นต่าง ๆ จากภายนอกรถ เข้ามาสร้างความรำคาญภายในห้องโดยสาร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แหละ บอกเหตุให้ทราบว่า ซีลยางขอบประตูเริ่มเสื่อมสภาพแล้วจ้า

istock-1282232759

ซีลยางขอบประตูของแท้เบิกใหม่นั้น สนนราคาจัดว่าไม่ถูกเลยทีเดียว แต่ถ้าหาซื้อจากร้านอะไหล่ทั่วไปราคาจะถูกกว่า และจะถูกกว่าของแท้เกินครึ่งเมื่อหันไปหาของเทียม แต่ก็อย่างว่าแหละ ของเทียมราคาถูกแต่ก็ใช้ไม่ทนทานเท่าไหร่นัก อยู่ได้ประมาณ 3 – 4 ปีก็กลับบ้านเก่าแล้ว ถ้าเป็นของแท้ก็อยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือถ้าเป็นของจากนอกที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ดีกว่าบ้านเรามากหน่อย ก็อาจจะอยู่รับใช้ได้นาน 8 – 10 ปีทีเดียว

เราควรจะต้องตรวจตราซีลยางตามขอบประตูพวกนี้ ประมาณ 3 - 4 เดือน/ครั้งก็จะดีไม่น้อยนะ หมั่นสังเกตดูว่าเนื้อยางยังคงรูปอยู่มั้ย? มีการบิดเบี้ยวไปจากเดิมหรือไม่? ประกบแนบสนิทกับตัวรถหรือเปล่า?

ลองเอามือบีบที่เนื้อยางดูว่า มีความนุ่มหรือแข็งขนาดไหน? ซีลยางขอบประตูที่น่าจะยังใช้งานได้ดี ไม่ควรแข็งจนเกินไป หรือนิ่มยวบยาบจนเกือบยุ่ยหรือมีรอยปริแตก ถ้าพบว่ายางขอบประตูเริ่มแข็งตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือยุ่ยจนแทบจะใช้ไม่ได้แล้วก็ควรเปลี่ยน เพราะยางขอบประตูพวกนี้แหละ ที่มักทำให้น้ำฝนลอดเข้ามาในห้องโดยสารได้

ยางขอบกระจกบังลมหน้าและหลังก็เป็นอีกจุด ที่ทำให้น้ำฝนเล็ดลอดเข้ามาในห้องโดยสารได้ วิธีการตรวจสอบก็ไม่ยากแค่นำรถไปล้างดู หากพบว่าตรงจุดไหนมีน้ำซึมหรือไหลเข้ามาได้ ก็จัดการแก้ไขซะให้เรียบร้อย โดยใช้ “ซิลิโคน” ยาตามแนวขอบกระจก แค่นี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาการรั่วซึม ตรงบริเวณขอบกระจกบังลมได้มาก แต่อย่าลืมว่า! หลังจากใช้ “ซิลิโคน” ยาตามแนวขอบกระจกแล้ว ควรทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง จากนั้นนำรถไปล้างดูใหม่นะ และลองเช็ครอยรั่วดูอีกครั้ง

istock-1169266440

อีกจุดหนึ่งก็คือ ส่วนที่เรียกว่า แผงจิ้งหรีด หรือ แผงซี่ ๆ ที่ตรงบริเวณที่ยึดก้านปัดน้ำฝน จุดนี้น้ำฝนก็อาจจะเล็ดลอดเข้ามาได้เหมือนกัน เพราะเป็นช่องที่ใช้ระบายอากาศ จะมีท่อนำอากาศผ่านเข้ามาได้ห้องโดยสาร เพื่อไม่ให้กระจกบังลมหน้าเป็นฝ้า หรือระบายอากาศในห้องโดยสาร ลดความชื้นและกลิ่นอับในห้องโดยสาร แต่ในทางกลับกัน ก็อาจจะนำพาน้ำฝนเข้ามาในห้องโดยสารได้ หากเราขับรถฝ่าสายฝนที่ตกกระหน่ำเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือไม่ก็อาจจะเป็นช่องทาง สำหรับนำพากลิ่นไม่พึงประสงค์ จากภายนอกรถเข้ามาก็ได้ ในต่างประเทศเค้าจะมีอุปกรณ์ OPTION พิเศษ ที่เรียกว่า SNOW CAP ไว้สำหรับปิดช่องตรงแผงจิ้งหรีดนี้ ป้องกันไม่ให้น้ำฝนหรือหิมะที่ตกหนัก เล็ดลอดเข้ามาในห้องโดยสาร

ฝนที่ตกติดต่อกัน หรือฝนหลงฤดูก็แล้วแต่ หมั่นดูแลใส่ใจรถกันหน่อย เอ่อ!... แล้วอย่ามัวดูแต่รถล่ะ สุขภาพของเราและคนรอบข้างก็สำคัญด้วย สำคัญซะยิ่งกว่ารถซะอีก ต้องดูแลอย่าให้ป่วยอย่าให้ไข้นะ จะได้ขับรถไปเที่ยวได้สนุกทุกทริปเลยจ้า

advertisement

Powered by อมรินทร์ นิวส์ - ยานยนต์

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม