สักการะพระบรมสารีริกธาตุ บทสวด ความหมาย และความเป็นมา

27 ก.พ. 67

สักการะพระบรมสารีริกธาตุ อีกหนึ่งการเสริมสิริมงคลสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ได้ไปสักการะบูชาเมื่อวันมาฆบูชา 2567 ที่ผ่านมา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย

โดยพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และเปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-20.00 น. จากนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐานใน 3 จังหวัดตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เข้าสักการบูชา ดังนี้

  • ภาคเหนือ วันที่ 5-8 มีนาคม 2567 ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 10-13 มีนาคม ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี
  • ภาคใต้ วันที่ 15-18 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่

ทั้งนี้ ในทุกวันตั้งแต่เวลา 17.00 น. จะจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะ โดยแต่ละพื้นที่จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างยิ่งใหญ่

 

ความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุเป็นปูชนียธาตุอันทรงคุณค่า สำหรับพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นธาตุที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งสำคัญในการโน้มน้าวดึงดูดจิตใจของผู้มีศรัทธา ให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เหตุที่เกิดพระบรมสารีริกธาตุจำนวนมากขึ้นนั้น เกิดจากพุทธประสงค์ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระสมณะโคดม) ทรงเล็งเห็นว่า พระองค์มีเวลาปฏิบัติพุทธกิจเพียง 45 พรรษา นับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ หมู่สัตว์ทั้งหลายเกิดมาไม่ทันสมัยพระองค์มีมากนัก หากได้อัฐิธาตุของพระองค์ไปอุปัฏฐากบูชาจะได้บุญกุศลมาก พระองค์จึงอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แตกย่อยลงเป็น 3 สัณฐาน รวม 8 ทะนาน ให้กระจายไปทั่วทิศานุทิศ

การที่พระบรมสารีริกธาตุนั้น ประดิษฐานอยู่ในโลกทำให้เราเชื่อมั่นว่า พระพุทธเจ้านั้นอยู่กับเราตลอดไป แม้ว่าพระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม พระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนและช่วยให้มีการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตลอดมา

 

ความหมายและขนาดของ พระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ คือ พระอัฐิธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะแตกต่างจากอัฐิของพระอริยสาวกและบุคคลทั่วไป มี 3 ขนาด คือ
1. ขนาดเล็ก ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีสีดังดอกมะลิตูม
2. ขนาดกลาง ประมาณเมล็ดข้าวสารหักครึ่ง มีสีดังแก้วมุกดา
3. ขนาดใหญ่ ประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่าซีก มีสีดังทองอุไร

ความศักดิ์สิทธิ์ และวิธีอัญเชิญ

พระบรมสารีริกธาตุนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนได้เอง โดยสามารเสด็จไปไหนมาไหนเองแม้ว่าจะบรรจุไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทดีสักเท่าใดก็ตาม เชื่อกันว่าหากผู้กราบไหว้สักการบูชาไม่ดูแลรักษานำไปประดิษฐานไว้ในสถานที่ที่ไม่สมควร หรือขาดการถวายความเคารพแล้วพระบรมสารีริกธาตุอาจเสด็จหายจากสถานที่นั้น ๆ ก็เป็นได้ โดยทางตรงกันข้าม หากได้รับการปฏิบัติบูชาดี ผู้กราบไหว้สักการบูชา มีกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ อยู่ในศีลธรรม พระบรมสารีริกธาตุก็อาจเพิ่มจำนวนได้ วิธีอัญเชิญโดยทั่วไป มีดังนี้

  • จัดที่บูชาให้สะอาด
  • ตั้งพานใส่ดอกมะลิบูชา (ถ้ามี)
  • นำน้ำสะอาดใส่ขันสัมฤทธิ์ตั้งไว้หน้าที่บูขา (ตามวิธีโบราณ)
  • ชำระร่างกายให้สะอาด
  • ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง มีสมาธิ
  • สมาทานศีล
  • ระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยกล่าว นะโมฯ ๓ จบ แล้วสวดสรรเสริญพระพุทธคุณว่า
    "อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง ตัง ภะคะวันตัง ปะระมะสารีริกธาตุยา สัทธิง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ"
  • สวดคาถาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้
    "อัชชะตัคเค ปาณุเปตัง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คะโต อัสสามิ มะหันตา ภินนะมุคคา จะ มัชฌิมา ภินนะตัณฑุลา ขุททะกา สาสะปะมัตตา เอวัง ธาตุโย สัพพัฏฐาเน อาคัจฉันตุ สีเส เม ปะตันเต"
    หรืออีกบทหนึ่งว่า
    "อิติปิโสวิเสเสอิ อิเสเสพุทธะนาเมอิ อิเมนาพุทธะตังโสอิ อิโสตังพุทธะปิติอิ"

 

บทสวดบูชา สักการะพระบรมสารีริกฐธาตุ
การจะบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุนั้น ก่อนอื่นต้องชำระร่างกาย ทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส และจัดหาดอกมะลิใส่ภาชนะเป็นเครื่องสักการบูชาตั้งด้านหน้า ณ สถานที่ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้วจุดธูป เทียนตั้งใจให้เป็นสมาธิ กราบ ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำบูชาดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
"อะหัง วันทามิ ทูระโต อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส"

นอกเหนือจากการบูชาด้วย "อามิสบูชา" คือ การบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียนและเครื่องหอมต่าง ๆ แล้ว การบูชาด้วยการ "ปฏิบัติบูชา" คือ การเจริญจิตภาวนาซึ่งเป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่สมควรปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย

การกราบไทว้สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ มีผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่ามีอานิสงส์ ดังนี้

  1. กราบไหว้สักการบูชา 1 ครั้ง เป็นบุญมงคล
  2. กราบไหว้สักการบูชา 2 ครั้ง ช่วยนำพาวาสนารุ่งเรือง
  3. กราบไหว้สักการบูชา 3 ครั้ง ก่อเกิดบารมีแผ่ไพศาล
  4. กราบไหว้สักการบูชา 5 ครั้ง ได้ดั่งใจปรารถนา
  5. กราบไหว้สักการบูชา 7 ครั้ง ผู้คิดร้ายไม่เข้าถึงตัว
  6. กราบไหว้สักการบูชา 9 ครั้ง เป็นปิยสิทธิ์และสรรพสิทธิ์ตลอดไป

นอกจากนี้ยังได้อานิสงส์เป็นอนุสติ 10 อีกด้วย คือ

  • พุทธานุสติ ได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
  • ธัมมานุสสติ ได้ระลึกถึงคุณของพระธรรม
  • สังฆานุสสติ ได้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์
  • สีลานุสสติ ได้ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
  • จาคานุสสติ ได้ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
  • เทวตานุสสติ ได้ระลึกถึงธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
  • มรณัสสติ ได้ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรม
  • กายคตาสติ ได้ระลึกถึงร่างกายให้เห็นว่าไม่งาม
  • อานาปานสติ ได้ระลึกถึงลมหายใจเข้าออก
  • อุปสมานุสสติ ได้ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ พระนิพพาน

 

ที่มา : กรมการศาสนา

advertisement

Powered by amarintv

ดูดวง คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด